Environmental Sustainability

‘วราวุธ’ ย้ำจุดยืนไทย บนเวที COP 26 พร้อมร่วมมือทุกฝ่าย บรรลุเป้าหมายแก้โลกร้อน

“วราวุธ” ประกาศจุดยืนไทย ก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุม “COP 26” ยืนยัน พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายแก้ปัญหาโลกร้อน ตามเป้าหมาย “ข้อตกลงปารีส” เตรียมหารือระดับทวิภาคีหลายชาติ พัฒนาความร่วมมือด้านโลกร้อน

วันนี้ (27 ต.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดแถลงข่าว เรื่อง การวางกรอบท่าทีการเจรจาของไทยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 ที่ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

S 84918282

นายวราวุธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ก่อตัวขึ้นมาเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง และมีความถี่มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของประชาชนชาวไทย

สำหรับการประชุม COP26 ในปีนี้มีเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของโลก (global net zero emission) ภายในกลางศตวรรษ การปรับตัวต่อผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องชุมชนและระบบนิเวศ การระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว ให้บรรลุตามเป้าหมายการเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนา และการเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปต่อประเด็น ที่ยังคงค้างภายใต้แผนการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส และยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

S 139616344

ประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนส่งผู้แทนประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ มาโดยตลอด

เพื่อแสดงความมุ่งมั่นร่วมกับนานาประเทศในการมีส่วนร่วมแก้ปัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้หลักการความเป็นธรรมและคำนึงถึงขีดความสามารถและสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน และนำข้อตัดสินใจรวมกันมาดำเนินการภายในประเทศ

การดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จมีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและแผนที่ได้วางไว้จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา องค์กรอิสระ องค์กรระหว่างประเทศ และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

S 139616439

ในการประชุม COP 26 ครั้งนี้ ประเทศไทยจะประกาศ และจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality เพื่อแสดงถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ต่อความรับผิดชอบในการแก้ไข ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรก ๆ ของโลกที่สามารถดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีกรอบมาตรการที่ชัดเจน โดยปัจจุบันมีประเทศที่จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว 33  ประเทศ โดยในจำนวนนี้ มีจากประเทศสมาชิกอาเซียน 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

สำหรับการเข้าร่วมประชุม COP26  ไทยจะเน้นย้ำท่าทีที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน ทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวฯ อย่างสมดุล โดยการกำหนดเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ จะต้องพิจารณาอย่างบูรณาการ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบร่วมกัน ในระดับที่แตกต่าง ตามขีดความสามารถ (Common but differentiated responsibility and respective capability)

QR CODE คำแถลงข่าวของ รมว.ทส. COP26

ไทยมีความพร้อม และยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส และคาดหวังให้การประชุม COP26 สามารถหาข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเจรจาที่ยังไม่มีข้อสรุปได้ เพื่อให้มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้ความตกลงปารีสในระยะหลังปี 2563 ต่อไป

ระหว่างที่มีการประชุม COP26 ไทยยังจะมีการหารือทวิภาคี กับสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และยังอยู่ระหว่างพิจารณานัดหมาย หารือร่วมกับ เยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐ ถึงโอกาสการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo