Environmental Sustainability

อนาคตโรงไฟฟ้าชีวมวลในไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเพียบพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งถนน น้ำ และไฟฟ้า ที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้ของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงยังสนับสนุนภาคการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทย ถูกจัดเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาตั้งถิ่นฐานประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ แต่ประเทศไทยยังเป็นประเทศ ที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ มากถึง 60-70% ของความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ทั้งหมด

โรงไฟฟ้าชีวมวล

อนาคตโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย

ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศ และเสริมสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ ให้มีความมั่นคงมากขึ้น

ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 (PDP 2018) ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 กระทรวงพลังงาน ได้มีแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีต้นทุนราคาที่เป็นธรรม ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้านพลังงาน สร้างงาน และสร้างรายได้แก่ชุมชน ในระดับฐานรากของประเทศ (Energy for All) โดยเน้นให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้า และนำไปใช้ในชุมชนตาม ศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในแต่ละพื้นที่

ต่อมามีการปรับปรุง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ที่ได้พิจารณานโยบายด้านพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มเติม และยังคำนึงถึงความมั่นคงในระบบไฟฟ้ารายภูมิภาคให้พึ่งพาตนเองได้ ในการจัดทำ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) มีความแตกต่างจาก แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 (PDP 2018) ฉบับเดิม

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) เมื่อสิ้นแผนใน พ.ศ. 2580 จะมี กำลังผลิตไฟฟ้าในระบบตามสัญญารวม 77,211 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา ณ สิ้น พ.ศ. 2560 เท่ากับ 46,090 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของโรงไฟฟ้าใหม่รวม 56,431 เมกะวัตต์ มีการปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วง พ.ศ. 2561-2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์

กำลังผลิตไฟฟ้าข้างต้น เป็น กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ ตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ โดยคาดว่าสิ้นปี 2580 มีกำลังการผลิต 2,453 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชน 600 เมกะวัตต์

นอกจากนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ ส่วนเพิ่มมาจากนโยบายภาครัฐ มี เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ สิ้น พ.ศ. 2580 จำนวน 16,243 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้มาจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 2,780 เมกะวัตต์

การปรับเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากพื้นฐานเกษตรกรรมของประเทศ ที่มีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าว น้ำตาล ยางพารา น้ำมันปาล์ม และมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งยังมีเศษวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตพลังงานชีวมวลได้ปริมาณมหาศาล

ดังนั้นเมื่อนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้ มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล ก็จะเป็นการหมุนเวียนการใช้วัสดุที่เกิดขึ้นเองภายในท้องถิ่น นำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าตาม โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG

การประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบขับเคลื่อนประเทศด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก

ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ในภาคการเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจหมุนเวียน

ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคณะกรรมการบริหารเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570

ตาม ยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้จัดทำโครงการสำคัญในระหว่าง พ.ศ. 2565-2570 รวม 9 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่

1. สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ
2. สาขาเกษตร
3. สาขาอาหาร
4. สาขายาและวัคซีน
5. สาขาเครื่องมือแพทย์
6. สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ
7. สาขาท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
8. สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน
9. สาขากำลังคน

ทั้ง 9 สาขายุทธศาสตร์ มีจำนวนทั้งสิ้น 47 โครงการ มีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 39,233.5 ล้านบาท

สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ ที่กำหนดให้เป็นหนึ่งใน 9 สาขา ยุทธศาสตร์มุ่งเน้นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรองรับของเสียที่หลากหลาย ทั้งชนิดและคุณสมบัติ เช่น ขยะจากอุตสาหกรรม ครัวเรือน รวมถึงเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

โมเดลเศรษฐกิจ BCG ช่วยให้ภาคพลังงาน รับมือกับโจทย์ท้าทายที่สำคัญของโลก ทั้งในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก และการใช้พลังงานสะอาด ที่ในอนาคตประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ เช่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เตรียมหยิบยกเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด ตามมาตรการส่งเสริมพลังงานสะอาด ที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก

จากทิศทางประชาคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทำให้ทุกประเทศต้องกำหนด เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อก้าวสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) เช่น จีน ประกาศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2060 สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ประกาศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ปี ค.ศ. 2050 เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 35% ของการใช้พลังงานภายใน พ.ศ. 2573

ส่วนประเทศไทยเข้าร่วม ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 หรือ COP 21 ได้บรรลุความตกลงที่สำคัญ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 หรือ ข้อตกลงปารีส โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศคงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วย การลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายใน ค.ศ 2030 (พ.ศ. 2573) ในสาขาพลังงาน การคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย

ในขณะที่ การประชุมสุดยอดว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (IEA-COP26 Net Zero Summit) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นการประชุมออนไลน์จัดโดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ และที่ ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 26 หรือ COP 26 เจ้าภาพหลักการจัดเวทีเจรจาโลกร้อน เพื่อหาแนวทางร่วมกัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายในความตกลงปารีส

การประชุม COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นใน เดือนพฤศจิกายน 2564 ได้กำหนดแนวทางความร่วมมือ เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ให้สอดคล้องกับการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ โรดแมพ (Roadmap) ของ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ที่กำหนดเป้าหมายสำหรับภาคพลังงานโลก ที่จะพัฒนาพลังงานโดยมีเป้าหมาย ที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใน พ.ศ. 2593 หรือในอีก 30 ปี ข้างหน้า

โรงไฟฟ้าชีวมวล

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทำ แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 เพื่อวางกรอบนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ให้สอดรับกับทิศทางพลังงานของโลก ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอา

ภายใต้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan) หรือ PDP 2022 ที่จะต้องจัดทำขึ้นใหม่ภายใต้ แผนพลังงานแห่งชาติ จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นจาก แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ฉบับปัจจุบัน

ที่กำหนดไว้อยู่ที่ประมาณ 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ เพิ่มขึ้นไปเป็นประมาณ 45-50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ โดยทิศทางในอนาคตของพลังงานประเทศ จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น

ดังนั้นพลังงานทดแทน นับว่าเป็นคำตอบที่สำคัญ และพลังงานชีวมวล ก็ถือเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า จึงมีโอกาสที่จะเห็นการปรับเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลในอนาคต ภายใต้ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2022) ที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งการปรับแผนดังกล่าวจะมีความชัดเจนในช่วงปลายปี 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight