The Bangkok Insight

โรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน โมเดลชีวมวลผสม จ.นครศรีธรรมราช

ภาคใต้ของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่สูงมาก เพราะเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญในการเพาะปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพื้นผลการเกษตรอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้มีเศษพืชชีวมวลที่ต้องทิ้งไปในแต่ละปีอย่างไร้ค่าเป็นจำนวนมาก ประกอบกับในพื้นที่ภาคใต้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ ยังไม่สามารถพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้ โดยปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการจัดส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางผ่านระบบสายส่ง เพื่อให้มีกระไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงหากเกิดอุบัติเหตุกับสายส่งไฟฟ้าขึ้น ก็อาจทำให้ภาคใต้เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าได้ และยังอาจส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน

โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน โมเดลชีวมวลผสม

กระทรวงพลังงาน จึงให้การส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ โดยหนึ่งในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สำคัญ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน (TSG) ที่ทาง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ชูให้เป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้เชื้อเพลิงผสมได้หลายชนิด (Multi-Fuel) ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูง มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน (TSG ) อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งสัง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบอัตราเงินสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in Tariff: FiT) โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) มีระยะเวลา 20 ปี และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT Premium) 0.30 บาท เป็นเวลา 8 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 โดยมีกำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 9.2 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากต้นยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก และยังสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวล จากต้นปาล์มน้ำมัน มาเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการเผาไหม้

โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน

สูตรสำเร็จของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ คือ โรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน (TSG) ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มแรก โดยก่อนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน ได้ทำการสำรวจศักยภาพของเชื้อเพลิงในรัศมีรอบโรงไฟฟ้า ที่สามารถส่งมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงเข้าสู่โรงไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง ใช้เชื้อเพลิงหลักจาก ตอไม้ ราก ปีกไม้ และเศษไม้ จากต้นยางพารา เพียงพอต่อความต้องการของโรงไฟฟ้าชีวมวล

ต้นยางพาราที่เป็นเชื้อเพลิงหลักของ โรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งต้นยางพารา เมื่อมีอายุ 25-30 ปี จะให้ปริมาณและคุณภาพของน้ำยางลดลง ส่งผลให้เกษตรกรต้องโค่นต้นยางพารา เพื่อปลูกต้นยางพาราใหม่ทดแทน

ดังนั้นจึงมีการโค่นต้นยางพารากันทุกปี จึงมีเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้นยางพาราจะถูกนำไปทำเฟอร์นิเจอร์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือ คือ ตอไม้ ราก ปีกไม้ เศษไม้ยางพารา และขี้เลื่อย จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน โดยใน 4 จังหวัดดังกล่าว มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 5.6 ล้านไร่

นอกจากนี้ ปาล์มน้ำมันก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ทำให้มีเชื้อเพลิงชีวมวลจากต้นปาล์ม เช่น ทะลายปาล์ม เปลือก และใยปาล์ม ที่เหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีนได้เช่นกัน

โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน

ในปี 2562 โรงไฟฟ้ามีอัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) อยู่ที่ 91.5% นับว่า ใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อช่วยลดอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิง ที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง10% มีระบบเผาไหม้และหม้อไอน้ำ สามารถรองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลาย และเชื้อเพลิงที่มีความชื้นแตกต่างกัน และมีระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องกังหันไอน้ำแบบ 10 State สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 50,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน ยังได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง โดยได้ติดตั้งระบบ เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitators: ESP) เพื่อดักจับฝุ่นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในระบบการผลิต สามารถดักจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน ได้มากกว่า 99.5% เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยรอบ รวมทั้งยังได้ออกตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งคุณภาพน้ำ อากาศ และการจัดการของเสียทุก ๆ 6 เดือน และปฏิบัติตามนโยบายของรัฐอย่างเคร่งครัด ทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ ก็ได้รับประโยชน์จากการขายเศษวัสดุทางการเกษตรสามารถ สร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท จากการรับซื้อวัสดุทางการเกษตร และการจ้างงานบุคลากรภายในพื้นที่ถึง 93% ซึ่งเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบายพลังงานที่จะให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานของประเทศ

สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยมากกว่า 85,000 เมกะวัตต์/ปี หรือเทียบเท่าการลดปริมาณคาร์บอน ทดแทนการใช้ฟอสซิล ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 50,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่กับภาคใต้ ในกรณีที่เกิดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับได้อีกทางหนึ่งด้วย

จากศักยภาพของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้ได้รับการพิจารณารางวัลทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีมาตรฐานในการผลิตไฟฟ้าดูแลด้านสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เป็น โรงไฟฟ้าต้นแบบที่ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2019 ดีเด่น ประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) และยังได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับ ASEAN Energy Awards 2019

รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าต้นแบบของโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยแหล่งเชื้อเพลิงของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีนจะใช้ ตอไม้ ราก ปีกไม้ และเศษไม้จากต้นยางพารา เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้หลักประมาณ 115,020 ตันต่อปี และยังสามารถใช้ทะลายปาล์มและทางปาล์ม เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกได้

โรงไฟฟ้านี้ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าต้นแบบของโรงไฟฟ้าชีวมวล ในแบบใช้เชื้อเพลิงผสมได้หลายชนิด (Multi-Fuel) ที่ใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ยางพารา (ตอไม้ รากไม้ ปลายไม้ และปีกไม้) กะลา และทะลายปาล์ม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัสดุที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 800 ล้านบาท

จากศักยภาพของโรงไฟฟ้าจึงทำให้ได้รับการพิจารณารางวัลทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน นับเป็นเครื่องการันตี ถึงความสำเร็จในความมุ่งมั่นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีมาตรฐานในการผลิตไฟฟ้า และการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพจากการใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง
อีกทั้ง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ยังมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำวัสดุทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยการนำโมเดลของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight