Environmental Sustainability

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm

ผลพวงจากนโยบายสนับสนุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ของภาครัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบ การให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) และ การให้เงินสนับสนุนค่าไฟตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in Tariff: FiT) สะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปจะต้องจ่าย โดยรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุน โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm 

มาตรการสนับสนุนดังกล่าวรวมอยู่ใน ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ปัจจุบัน มีอัตราอยู่ที่กว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย และพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่แน่นอนในการผลิตไฟฟ้า

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm

กระทรวงพลังงาน สมัยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายดูแลการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ไม่ให้เพิ่มภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า จึงปรับรูปแบบส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเดิมเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง มาเป็นการผสมผสานพลังงานหมุนเวียนสองชนิดขึ้นไป หรือ ผสมผสานระบบเก็บพลังงาน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้รูปแบบการเปิดประมูลแข่งขัน เพื่อให้ได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำ หรือไม่เพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้า

การประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน พิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ (Feed-in Tariff: FiT) สำหรับ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer) หรือ SPP ในรูปแบบ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผสมผสานขนาดเล็กพึ่งพาได้ (SPP Hybrid Firm) พ.ศ. 2560

SPP Hybrid Firm

นับเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่ภาครัฐมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบผสมผสานเชื้อเพลิง ภายใต้การเปิดประมูลให้มีการแข่งขัน และเป็นที่มาให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตกิจการไฟฟ้า ดำเนินการจัดทำระเบียบและหลักเกณฑ์ ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า SPP Hybrid Firm และกำหนดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 16-20 ตุลาคม 2560 ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

การเปิดรับซื้อรายใหม่เท่านั้น และขายเข้าระบบเป็น SPP ขนาด 10-50 เมกะวัตต์ สามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า หรือเท่ากับ 1 ประเภท โดยไม่กำหนดสัดส่วน เปิดกว้างให้ใช้ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ และต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น

นั่นหมายความว่าการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง ( Peak) และ ในช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) ไม่เกิน 65% อาจจะต่ำกว่า 65% ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่ กกพ. กำหนด

นอกจากนี้ยังห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มาช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้า (Start up) และยังต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง มีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมใช้พื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในลักษณะประมูลแข่งขัน (Competitive Bidding) รับซื้อไฟฟ้าปริมาณรวมไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ ใช้อัตรา Feed-inTariff: FiT เดียว แข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2563

โครงการนี้มีเอกชนตอบรับเป็นอย่างมาก มีการยื่นข้อเสนอรวม 85 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 1,644 เมกะวัตต์ กำลังผลิตติดตั้งรวม 2,464 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าหมายการรับซื้อกว่า 5 เท่า แต่มีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียง 17 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ เนื่องจากแข่งขันเสนอราคาค่าไฟฟ้า มีอัตราต่ำมาก อยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ส่วนใหญ่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเป็นผู้ที่มีวัตถุดิบเหลือใช้อยู่แล้ว เช่น กลุ่มโรงงานน้ำตาล เป็นต้น

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm

ปัจจุบัน โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ยังไม่สามารถลงนาม PPA ได้ทันตามกำหนด ล่าสุดการประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 จึงเห็นชอบตามข้อเสนอของ กกพ. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm โดยขยายกำหนดวัน SCOD เป็นครั้งที่ 2 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 จากปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการฯ ที่ไม่สามารถจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ทันตามระยะเวลา

SPP Hybrid Firm

การลงนาม สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด (13 ธันวาคม 2562) มีเพียงแค่ 3 ราย ส่วนอีก 14 รายที่เหลือ ยังไม่สามารถลงนามใน PPA ได้

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm หากเกิดขึ้นครบทั้งหมด จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศทั้งความมั่นคงระบบไฟฟ้า อัตราค่าไฟฟ้าไม่แพง และจะเป็นบรรทัดฐานไปสู่การกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการประมูลแข่งขันในอนาคต

แต่หากโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่านโยบายรัฐอาจต้องปรับปรุงรายละเอียดบางส่วน เพื่อให้นโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคต

สำหรับสถานะ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm 14 โครงการ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 โครงการ SPP Hybrid Firm กลุ่มได้รับการเยียวยา จำนวน 14 โครงการ กำลังผลิตรวม 238.16 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น

กลุ่มที่ 1 จัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ

มีจำนวน 5 โครงการ กำลังผลิต 69.89 เมกะวัตต์ ดังนี้

1. บริษัท ไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด (คลองขลุง) ตั้งอยู่จังหวัดกำแพงเพชร ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ผสมผสานกับโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 13.31 เมกะวัตต์ ได้รับอนุมัติรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 กำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

2. บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ภูเวียง) จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดขอนแก่น ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 16.00 เมกะวัตต์ ได้รับอนุมัติรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2564

3. บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดสุรินทร์ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 11.29 เมกะวัตต์ ได้รับอนุมัติรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

4. บริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ 16 จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดสุโขทัย ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 13.29 เมกะวัตต์ ได้รับอนุมัติรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 กำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 22 ธันวาคม 2563 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2565

5. บริษัท ไทยโก้ เทคโนโลยี จำกัด (ปะทิว-ชุมพร) ตั้งอยู่จังหวัดชุมพร ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 16.00 เมกะวัตต์ ได้รับอนุมัติรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 31 มีนาคม 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

กลุ่มที่ 2 อยู่ระหว่างการพิจารณา/แก้ไขรายงานด้านสิ่งแวดล้อม

มีจำนวน 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 55.00 เมกะวัตต์ ดังนี้

6. บริษัท ไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด (นามอน 2) ตั้งอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้เชื้อเพลิง ชีวมวล กำลังผลิต 21.50 เมกะวัตต์ ยังรอพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

7. บริษัท เอซีอี โซลาร์ จำกัด (นามอน1) ตั้งอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 21.50 เมกะวัตต์ ยังรอพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

8. บริษัท บลู โซลาร์ฟาร์ม 1 จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้เชื้อเพลิงโซลาร์ ผสมผสานระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) กำลังผลิต 12.00 เมกะวัตต์ ยังรอพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 31 มีนาคม 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

กลุ่มที่ 3 ยังไม่ยื่นรายงานด้านสิ่งแวดล้อม

มีจำนวน 6 โครงการ กำลังผลิตรวม 113.27 เมกะวัตต์ ดังนี้

9. บริษัท ไทยโก้ เทคโนโลยี จำกัด (กระบี่) ตั้งอยู่จังหวัดกระบี่ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 24.00 เมกะวัตต์ ยังไม่ยื่นรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

10. บริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดสระแก้ว ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย) ผสมผสานกับโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 16.00 เมกะวัตต์ ยังไม่ยื่นรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 31 ธันวาคม 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

11. บริษัท พีเอสที เอนเนอร์ยี 1 จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดแพร่ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 23.42 เมกะวัตต์ ยังไม่ยื่นรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

12. บริษัท ไทยโก้ เทคโนโลยี จำกัด (สวี-ชุมพร) ตั้งอยู่จังหวัดชุมพร ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 13.85 เมกะวัตต์ ยังไม่ยื่นรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

13. บริษัท ไทยโก้ เทคโนโลยี จำกัด (อุดร) ตั้งอยู่จังหวัดอุดรธานี ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 16.00 เมกะวัตต์ ยังไม่ยื่นรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 30 มิถุนายน 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

14. บริษัท เอซีอี โซลาร์ จำกัด (ระนอง) (ศรีเจ้าพระยาเดิม) ตั้งอยู่จังหวัดระนอง ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 20.00 เมกะวัตต์ ยังไม่ยื่นรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

ทั้งนี้ โครงการ SPP Hybrid Firm 14 โครงการ ได้ยื่นแผนการลงทุน พร้อมดำเนินการจัดหาพันธบัตร (Bond) เพื่อเตรียมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการครบทั้ง 14 รายแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight