Environmental Sustainability

เข้าใจแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)

การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว มั่นคงในทุกด้าน จำเป็นต้องมีการวางแผนพัฒนาร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะด้านพลังงานถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน จึงต้องมี แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP

ประเทศไทยจึงจัดทำ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Thailand Power Development Plan) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า แผน PDP มีกระบวนการวางแผนต่อเนื่องทำมายาวนานถึง 28 ปี นับตั้งแต่เริ่มจัดทำแผนฉบับแรก พ.ศ. 2535 ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 19 ฉบับ เป็นแผนแม่บทที่จะแสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากหรือน้อยในกรอบ 20 ปีข้างหน้า เพื่อจะได้มีการวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทใด ใช้เชื้อเพลิงใด ตั้งอยู่ที่ไหน รองรับการใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอในอนาคต

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP จึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย ต่อการส่งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ด้วยการวางแผนการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ กระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ลดความเสี่ยง การพึ่งพาพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป เป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาดผลิตไฟฟ้า จัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อสร้างต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจและประเทศ

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผน PDP จะมีการทบทวนเป็นระยะ หรือทุก ๆ 1-2 ปี เพื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมมุติฐานเดิมหรือไม่ เพื่อจัดทำแผนฉบับใหม่ หรือแผนฉบับปรับปรุง

การจัดทำ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. ขั้นตอนการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้รู้ถึงภาพในอนาคตว่าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ระดับใด และปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการจะเป็นจำนวนเท่าใด

2. กระบวนการจัดทำ Optimization หรือ การคัดเลือกโรงไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าตามที่พยากรณ์

3. จัดทำแผนตรวจสอบเงื่อนไข โดยนำขั้นตอนที่ 1และ 2 มาประเมินความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิง ต้นทุน และการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

เมื่อยกร่างแผน PDP เสร็จแล้ว สนพ. จะต้องเปิดรับฟังแสดงความคิดเห็น (Open Forum) เพื่อนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงแผนให้สมบูรณ์ จากนั้นเสนอต่อ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีอนุมัติ จึงจะประกาศแผนเพื่อยึดเป็นแนวนโยบาย ในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านพลังงานของประเทศต่อไป

ตอนที่1 01 e1638855304456

แผน PDP ฉบับล่าสุด คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563

สัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใกล้เคียงแผนเดิม คือ ก๊าซธรรมชาติ 53.4% ถ่านหินและลิกไนต์ 11.4% พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน 24.5% และ พลังน้ำทั้งในและต่างประเทศ 10.7%

สาระสำคัญของแผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 นี้ เป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2561–2580 พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในปี 2580 อยู่ที่ 53,997 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 367,458 ล้านหน่วย

ขณะที่ภาพรวมของกำลังการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ และคงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไว้ตลอดแผน 56,431 เมกะวัตต์

ตอนที่1 02 e1638855345172

ทั้งนี้เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศ เป็นไปอย่างโปร่งใส่ เป็นธรรม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดบทบาทให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ความเห็นต่อแผน PDP และแผนลงทุนในกิจการไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน และความเป็นธรรมของราคา เช่น เมื่อแผน PDP คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต กกพ. จะให้ความเห็นในแง่ การกำกับให้ปริมาณการผลิตเพียงพอ สอดรับกับความต้องการ การวางแผนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทไหน ปริมาณเท่าใด เพื่อให้เกิดราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่สูงเกินไป

แล้วนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ประชาชนจะได้หลักประกันในการมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ สนับสนุนการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

อย่างไรก็ตามในอนาคตแผน PDP อาจถูกปรับเป็นแผนพลังงานชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่สั่งการกระทรวงพลังงาน ให้รวมทั้ง 5 แผนพลังงาน เป็นแผนเดียวกัน ประกอบด้วย

1. แผน PDP

2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)

3. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)

4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

เพื่อให้สอดรับกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และจัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้นทุก ๆ 5 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม: 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight