Environmental Sustainability

‘GSK’ จับมือภาครัฐและเอกชน เดินหน้าโครงการ ESG ดูแลสิ่งแวดล้อม ปกป้องผู้ป่วย NCD

“GSK” ร่วมมือภาครัฐและเอกชน เดินหน้าโครงการ ESG ดูแลสิ่งแวดล้อม ปกป้องผู้ป่วย NCD โรคระบบทางเดินหายใจ ผ่านโครงการต้นแบบ​ Lamphun​ Healing​ Town​ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋”

ทุกชั่วโมงจะมีคนไทย 37 คนเสียชีวิตจากโรค NCD และอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นทุกปี แนวคิดการสร้าง เมืองน่าอยู่ จึงได้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งอาคารบ้านเรือน และพื้นที่ส่วนรวมในเขตเมือง เพื่อสร้างความสุขและลดอัตราการเจ็บป่วย โดยเฉพาะภาวะการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCD (Non-Communicable Disease) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทยและทั่วโลก

GSK

รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด ได้กล่าวในงานประชุมวิชาการประจำปีสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย Thai NCD Alliance 2024 ว่า ตามแนวทางของ NCD-Less Architectural Design เป็นการสร้างเมืองน่าอยู่ที่ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและป่วยน้อยลง ขับเคลื่อนแนวคิด Restorative City หรือ เมืองแห่งอนาคต เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมให้กับทุกคน

นอกจากนี้ ยังลดอัตราการเกิดโรคกลุ่ม NCD โดยเฉพาะกลุ่มโรคทางเดินหายใจจากฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ส่งผลให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องมุ่งเน้นสุขภาพและความเป็นอยู่ โดยการผนวกองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเข้ากับสุขภาพและความเป็นอยู่

Aj Singh3 0
รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต

โครงการ ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ (Lamphun Healing Town) นับเป็นโครงการต้นแบบของการสร้าง เมืองน่าอยู่ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะปัจจุบัน ลำพูนเป็นจังหวัดที่เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระดับสูงมาก และมีอัตราโรคมะเร็งปอดสูงที่สุดในภาคเหนือ

ส่วนปัญหาด้านสภาพแวดล้อมที่พบคือ ขาดพื้นที่สีเขียว ต้นไม้กลางเมืองน้อย ทำให้ตัวเมืองร้อน แหล่งน้ำธรรมชาติจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเหือดแห้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัด เนื่องจากภาวะประชากรหดตัว และ 30% เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้ คนวัยทำงานออกไปอยู่เมืองอื่น นอกจากนี้ยังขาดที่พักและร้านค้า คุณภาพสูง รวมถึงมีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวน้อยมาก

Lamphun Healing Town plan 0

การคืนชีวิตให้กับจังหวัดลำพูน ผ่านโครงการ Lamphun Healing Town เป็นภารกิจสำคัญที่ เทศบาลเมืองลำพูน ร่วมกับบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK และบริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป ได้ร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อทำให้ทุกองค์ประกอบของเมืองลำพูนช่วยเยียวยาผู้คนอีกครั้ง

นางโสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า GSK ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดและชุมชนชาวลำพูน ผ่านโครงการต้นแบบ​ Lamphun​ Healing​ Town​ เพื่อสนับสนุนการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของลำพูน ตามหลัก ESG (Environment, Social, Governance) ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของ ถนนรถแก้ว เมืองลำพูน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มพื้นที่เขียว ลดมลพิษทางอากาศ สร้างความร่มรื่น จัดการระบบระบายน้ำ จัดการระบบแสงสว่าง และระบบสัญจร

Somrasa 0
โสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์

ด้านสุขภาพทั้งกายและใจ ด้วยการสร้างพื้นที่ออกกำลังกาย เสริมความร่มรื่น มีร่มเงา หายใจสะดวก และพื้นที่ผ่อนคลายด้วยงานศิลป์ และด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเชื่อมโยงพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความน่าลงทุน ร่วมกับเน้นภาพลักษณ์ด้านสุขภาวะที่ดีของชาวลำพูน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด เติมเต็มความสุขกายสบายใจให้แก่ผู้คนในลำพูน

การดำเนินโครงการ Lamphun​ Healing​ Town ในระยะแรก เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ของถนนรถแก้ว ที่เชื่อมระหว่างวัดพระรอด และวัดพระธาตุหริภุญชัย แหล่งท่องเที่ยวหลักประจำเมืองลำพูน โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อการเยียวยา ซึ่งนับเป็นถนนสายแรกที่มีการเจาะถนนเพื่อปลูกต้นไม้เพิ่ม ช่วยให้ผู้ใช้ถนนมีความผ่อนคลาย ลดภาวะความตึงเครียด และยังช่วยในเรื่องของอุณหภูมิอีกด้วย

พร้อมกันนี้ มีการปรับผิวถนนทำให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวก สามารถออกกำลังได้ รวมทั้งปรับแสงสว่างบริเวณโดยรอบ สร้างซุ้มประตูเมืองใหม่โดยเพิ่มสีเขียว และสุขศาลา (Community Wellness Center) เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว และมุ่งจุดประกายให้มีการพัฒนาเมืองอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรที่มีสุขภาพดีและมีความสุข เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศในองค์รวมสืบไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo