Environmental Sustainability

‘ดร.ธรณ์’ อัปเดต ตั้งแต่เกิดวิกฤติหญ้าทะเลไทย ทำอะไรไปแล้วบ้าง ยุคโลกร้อนทะเลเดือด

“ดร.ธรณ์” ห่วงวิกฤติหญ้าทะลไทยหดหาย ยุคโลกร้อนทะเลเดือด โดยเฉพาะ “หญ้าคาทะเล” หวั่นทำระบบนิเวศในท้องทะเลเปลี่ยน 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เล่าความก้าวหน้าของการต่อสู้ ฟื้นฟูวิกฤติหญ้าทะเล โดยระบุว่า

โลกร้อนทะเลเดือด

ตั้งแต่เกิดวิกฤตหญ้าทะเลไทย เราทำอะไรไปแล้วบ้าง ? จึงนำความก้าวหน้ามาบอกเพื่อนธรณ์ครับ

กรมทะเลตั้งคณะหญ้าเสื่อมโทรม มีคนมาร่วมเพียบเลย แบ่งงานเป็น 3 กลุ่มย่อย-หญ้า สมุทรศาสตร์ สัตว์หายาก

เราประชุม เย้ ! ประชุมกันเกือบทุกวันเลย แต่ก็ไม่ได้ตัดพ้ออะไร เพราะคนเยอะหลายงานหลายความคิด

หญ้า – เราขยายแนวสำรวจ เน้นงานหลักที่ตรัง-กระบี่ แต่มีงานรองในพื้นที่รอบ ๆ ทั้งประเทศไทย

หญ้าหายไปหลายแห่ง ลิบง เกาะมุกต์ ปากเมง เกาะศรีบอยา ฯลฯ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป

ว่าง่าย ๆ คือหญ้าที่ดูแล้วไม่มีผลกระทบเลยในเขตตรัง-กระบี่ตอนล่าง ถ้าเป็นผืนใหญ่น่าจะเหลือแค่ 1-2 แห่ง เช่น อ่าวน้ำเมา (กระบี่)

หญ้าทะเลในไทยมี 13 ชนิด ที่เราห่วงสุดคือหญ้าคาทะเล เป็นชนิดใหญ่ที่สุด เมื่อหายไป ระบบนิเวศเปลี่ยน หญ้าชนิดเล็กอาจรอดได้แต่ไม่นาน

ตลอดเดือนมีนาคม จะมีการสำรวจพื้นที่แหล่งหญ้าอีกหลายครั้ง รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ โชคดีที่บางมหาลัยมีข้อมูลทำไว้ในอดีตในบางจุด

ประเด็นนี้เน้นย้ำความสำคัญของการรับมือโลกร้อน ต้องมีข้อมูลพื้นฐานล่วงหน้าให้เพียงพอ ไม่งั้นพอเกิดเหตุ เราประเมินไม่ได้ว่าเจ๊งไปแค่ไหน เกิดผลกระทบอะไรบ้าง

การฟื้นฟูหญ้าไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องหาสาเหตุให้ชัด เลือกพิ้นที่ให้แม่น ช่วงนี้น้ำทะเลจะร้อนหนักขึ้นเรื่อย หากจะฟื้นฟูจริงอาจต้องรอเอลนีโญให้จบลงก่อน (ครึ่งปีหลัง)

หญ้า

สมุทรศาสตร์ – คืบหน้าไปเยอะ

เดือนมีนาคมจะมีงานลงพื้นที่เพียบ ที่น่าสนใจคือใช้อุปกรณ์ไฮเทคมาช่วย LiDAR Bathymatic Mapping ฯลฯ

เราจะบินโดรนหลายพื้นที่ในตรัง ทำแผนที่ชายฝั่ง-พื้นท้องทะเลโดยละเอียด ยังใช้ยานอัตโนมัติติดซาวเดอร์สแกนในที่ลึก

แผนที่พวกนี้มีประโยชน์สุด ๆ เมื่อเราทำซ้ำ จะบอกถึงการสะสม-หดหายของทราย นอกจากเอามาใช้กับหญ้า ยังใช้กับการกัดเซาะชายฝั่งได้เยอะเลย

ยังมีการศึกษากระแสน้ำ ตะกอน ฯลฯ ถือเป็นการสำรวจทางสมุทรศาสตร์ที่เร้าใจเลยครับ

สัตว์หายาก – เราทำต่อเนื่อง เน้นที่พะยูน/เต่าทะเล

ข้อมูลที่สำรวจกันมาในเดือนกพ. บอกว่าจำนวนพะยูนที่กระบี่ยังใกล้เคียงของเดิม แต่จะมีการสำรวจใหญ่อีกครั้ง ใช้เวลาครึ่งเดือน ครอบคลุมพื้นที่ กระบี่/ตรัง/สตูล

กรมทะเลมีโดรนปีกนิ่ง 4 ลำ เราจะนำมาใช้ 3 ลำ ยังมีปีกหมุนอีกหลายลำ ทำงานประสานกับทีมภาคสนาม เพื่อสำรวจน้องพะยูน/เต่า

การสำรวจยุคนี้ก้าวไปไกลมาก อยากให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ไปดูเพราะตื่นเต้นเร้าใจ แต่ทำไงไม่รู้เพราะแค่งานที่ทำตอนนี้ก็ไม่มีเวลาเหลือแล้ว เด็ก ๆ รอไปก่อนนะ

ด้วยงานมหาศาลเช่นนี้ ผมจึงประชุมแทบทุกวัน เมื่อวานวันเสาร์ก็ยังประชุม เพราะโลกไม่ได้หยุดร้อนในวันเสาร์อาทิตย์

อูย ชอบจัง โลกร้อนไม่ได้หยุดเสาร์อาทิตย์ เหมาะใช้กระตุ้นความฮึกเหิมในตัวครับ

จะมารายงานความคืบหน้าให้เพื่อนธรณ์ทราบอีกเรื่อย ๆ เพื่อให้รู้ว่าทุกคนกำลังทำงานกันอยู่และพยายามอย่างหนัก

แม้วิกฤติหญ้าทะเลหนนี้รุนแรงสุดตั้งแต่เคยเห็นมา อีกทั้งสาเหตุส่วนหนึ่งคือ โลกร้อนทะเลเดือดที่แก้ไขได้ยากเหลือเกิน แต่เราจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ

ด้วยรักและเคารพ ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านจากหลายมหาลัยที่เข้ามาช่วยกันทำงาน โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย
ได้เพียงสิ่งเดียวที่จะว่าไป สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ได้ช่วยทะเลที่เรารัก ในยามที่เธอต้องการมากที่สุดครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo