Environmental Sustainability

‘ไทย-เยอรมนี’ ยกระดับความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ไทย-เยอรมนี” ยกระดับความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมเลี้ยงต้อนรับประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วันที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 19:30 น. ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้น ณ MOCA Museum of Contemporary Art ถนนกำแพงเพชร 6 กรุงเทพมหานคร

ไทย-เยอรมนี

ไทย-เยอรมนี 15 ปีร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีเยอรมนีในรอบ 22 ปี ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมากว่า 162 ปี และดำเนินความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมายาวนานกว่า 15 ปี

ซึ่งประเทศเยอรมนีนับเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย โดยเฉพาะผ่านกองทุน International Climate Initiative ของกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ของเยอรมนี (BMWK) และผ่านการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit หรือ GIZ Thailand)

ประธานาธิบดีเยอรมนีและอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญและความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนทั้งสองประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ไทย-เยอรมนี

ยกระดับความร่วมมือ แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยท่านอธิบดีฯ ได้แสดงความขอบคุณที่ประเทศเยอรมนีให้การสนับสนุนประเทศไทยในช่วงกว่า 15 ปีที่ผ่านมา และแสดงถึงความตั้งใจที่จะยกระดับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นความท้าทายสำคัญระดับโลกร่วมกัน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมยังได้แลกเปลี่ยนกับภาคเอกชนของเยอรมนี ซึ่งต่างก็แสดงความสนใจในนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของไทย ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนแบบยั่งยืน และการขับเคลื่อนนโยบายยานพาหนะไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle)

ไทย-เยอรมนี

ทั้งนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) มีภารกิจสำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของภาคส่วนต่าง ๆ ในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ครอบคลุมสาขาพลังงาน ขนส่ง เกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย

อ่านข่่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo