Environmental Sustainability

ครั้งแรก! ‘พลังงานบริสุทธิ์’ ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ ตามระบบใหม่ ‘ข้อตกลงปารีส’ ให้กลุ่มเชื้อเพลิงสวิส

“พลังงานบริสุทธิ์” ผู้ประกอบการรถโดยสารไฟฟ้าของไทย ขาย “คาร์บอนเครดิต” ภายใต้ระบบใหม่ ของข้อตกลงปารีสเป็นครั้งแรก ให้กับ “เคลิค”กลุ่มพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลของสวิส ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการนำข้อตกลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติอายุ 8 ปีมาใช้

มูลนิธิเคลิค (KliK) ตัวแทนของผู้นำเข้าเชื้อเพลิงสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทได้เสร็จสิ้นการจัดซื้อคาร์บอนเครดิตครั้งแรกจำนวน 1,916 เครดิต จากบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ของไทย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

คาร์บอนเครดิต

ขณะที่ นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้บริหารพลังงานบริสุทธิ์ ที่ดูแลโครงการดังกล่าว ระบุว่า บริษัทเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องการขายการชดเชยคาร์บอน และว่า ตลาดนี้จะเฟื่องฟูอย่างมากในอนาคต

นายฉัตรพล บอกด้วยว่า มูลค่าการขายในครั้งนี้ มากกว่า 30 ดอลลาร์ต่อเครดิต แต่ปฏิเสธที่จะให้มูลค่าที่แน่นอนของข้อตกลง ซึ่งตามข้อตกลงปารีสปี 2558 อนุญาตให้รัฐบาล และบริษัทต่าง ๆ ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางส่วน ด้วยการจ่ายเงินสำหรับการลดมลพิษทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น

การชดเชยเหล่านั้นจะถูกนับเป็นเครดิต ซึ่งแต่ละหน่วยเครดิตเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน

อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมบางคนวิจารณ์ว่า การชดเชยคาร์บอนทำให้การปล่อยมลพิษดำเนินต่อไป แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การกำจัด โดยที่ผ่านมา นักเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ ได้ใช้เวลาหลายปีในการยอมรับกฎเกณฑ์สำหรับการชดเชย แต่ยังมีรายละเอียดจำนวนมาก ที่ยังคงอยู่ในการเจรจาสภาพภูมิอากาศประจำปีของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ล่าสุด คือ การประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ยังหมายความว่า ทั้งพลังงานบริสุทธิ์ ที่กำลังสร้างคาร์บอนเครดิต ด้วยการเปิดตัวรถโดยสารไฟฟ้ามากถึง 4,000 คันในกรุงเทพมหานคร แทนการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และเคลิค รวมถึง หน่วยงานกำกับดูแลในทั้งสองประเทศ ที่ต้องอนุมัติการซื้อขายตามระบบใหม่ของข้อตกลงนั้น จะสามารถมีอิทธิพลต่อตลาดซื้อขายคาร์บอนที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ หากเมื่อถึงที่สุดแล้ว ที่ประชุมสภาพอากาศของยูเอ็น มีข้อตกลงเป็นไปตามการนำร่องของทั้ง 2 ประเทศ แต่ยังมีความเสี่ยงที่ทั้ง 2 ฝ่าย อาจต้องแก้ไขการทำข้อตกลงซื้อขายนี้ หากไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของที่ประชุม

คาร์บอนเครดิต

นายมาร์โก เบิร์ก กรรมการผู้จัดการ เคลิค ระบุว่า ขณะนี้ ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ที่บอกว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งในแง่ของการเป็นผู้ที่ทำการซื้อขายเป็นรายแรกนั้น ก็อาจทำให้เกิดความได้เปรียบในระยะยาว แต่ในช่วงแรกนี้ สิ่งที่ต้องเจอคือ การทำงานหนัก และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

นายเบิร์ก บอกด้วยว่า รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ กำหนดให้บรรดาผู้นำเข้าเชื้อเพลิง ที่มีเคลิค ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม ต้องชดเชยการปล่อยมลพิษ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านคาร์บอนเครดิต ที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส โดยเคลิค ตกลงที่จะซื้อการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 1.5 ล้านตัน จนถึงปี 2573 จากพลังงานบริสุทธิ์ ซึ่งคิดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคาร์บอนเครดิต จำนวน 20 ล้านเครดิต ที่บริษัทคาดว่าจะต้องซื้อภายในสิ้นทศวรรษนี้

ทางด้าน สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐสวิส คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 สวิตเซอร์แลนด์จะต้องดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว  40 ล้านตันในต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

คาร์บอนเครดิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo