Environmental Sustainability

กรมทะเลและชายฝั่ง ติดตาม ‘แปลงปลูกป่าชายเลน’ เพื่อประโยชน์จาก ‘คาร์บอนเครดิต’

กรมทะเลและชายฝั่ง  ติดตาม “แปลงปลูกป่าชายเลน” เพื่อประโยชน์จาก “คาร์บอนเครดิต” ย้ำเจตนารมณ์มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเกาะติดแนวปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol: KP) เมื่อปี พ.ศ. 2537 และพ.ศ. 2545 ตามลำดับ

ซึ่งการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย เนื่องจากได้ตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย ภายใต้เจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ

กรมทะเลและชายฝั่ง

และในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่า

ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะยกระดับการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

กรมทะเลและชายฝั่ง

เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2580 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า

ซึ่งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด เร่งดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก ตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงเร่งเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกและการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน

ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

กรมทะเลและชายฝั่ง

กรมทะเลและชายฝั่ง ปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

โดย ทช.  ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มีเป้าหมาย 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2574 เนื้อที่ 300,000 ไร่ ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้ จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับบุคคลภายนอก และสำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 โดยดำเนินการในพื้นที่เสื่อมโทรม พื้นที่ที่ผ่านดำเนินคดี และคดีถึงที่สุดแล้ว พื้นที่เลนงอก พื้นที่แปลงปลูกเสริมและปรับปรุงสภาพป่าชายเลน

นางดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน (ผอ.กปล.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตในวันนี้ (วันที่ 20 เมษายน 2566) ณ แปลงปลูกป่าชายเลน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (ท่าสอน จันทบุรี)

พื้นที่โครงการนำร่องการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนในพื้นที่ของกรม ภายใต้การดำเนินงานโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า กรมได้ปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ตรวจยึดคืนจากพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าโสม ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนบางกระดาน ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนปากน้ำเวฬุ และพื้นที่ป่าชายเลน ตามมติคณะรัฐมนตรี 22 สิงหาคม 2543

กรมทะเลและชายฝั่ง

โดยมีจำนวนแปลงปลูกป่าที่นำมาพัฒนาเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ในครั้งนี้ จำนวน 21 แปลง 83 แปลงย่อยเนื้อที่ 703.91 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี 12 แปลงใหญ่ 54 แปลงย่อย เนื้อที่ 321.23 ไร่ และจังหวัดตราด 9 แปลงใหญ่ 29 แปลงย่อย เนื้อที่ 120.22 ไร่ ภายใต้ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลน พ.ศ. 2564

พื้นที่ดังกล่าวปลูกไม้ป่าชายเลน 2 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ระยะเวลาการดำเนินโครงการ T-VER 10 ปี โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด หรือกักเก็บได้ 1,935 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

กรมทะเลและชายฝั่ง

ร่วมมือทุกภาคส่วน มุ่งสู่ความสำเร็จ

นางดาวรุ่ง กล่าวย้ำอีกว่า เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนจะบรรลุความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน รวมถึงต้องเร่งดำเนินการรับมือและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่นและชุมชนในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ กรมทะเลและชายฝั่ง เร่งดำเนินการคือ “ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” แนวความยาวชายฝั่งของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 3,151.13 กิโลเมตร ที่ผ่านมามีการใช้ประโยชน์จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ หลายด้าน เช่น ด้านการประมง ด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ และด้านอุตสาหกรรม

กิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งมีแนวโน้มการใช้ที่เพิ่มขึ้น ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเหล่านี้ อาจจะส่งผลดีในด้านเศรษฐกิจ หากแต่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชายฝั่งเสื่อมโทรม

ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ 823.06 กิโลเมตร เป็นพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว ระยะทาง 753.32 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่กัดเซาะที่ยังไม่ดำเนินการแก้ไข ระยะทาง 69.74 กิโลเมตร โดยยังคงเหลือพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่มีการกัดเซาะ ระยะทาง 2,328.07 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ตามกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น

กรมทะเลและชายฝั่ง

ปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงคลื่น แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

นายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง (ผอ.กอช.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น ณ บ้านเกาะแมว ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ว่า

กรม ทช. ได้ตระหนักถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งเป็นภัยคุกคามที่กระทบต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง จึงได้มีการสร้างความร่วมมือผ่านการบูรณาการ การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจและบทบาทหน้าที่สนับสนุนกัน มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชนชายฝั่ง ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 การปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กรมได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการใน 56 พื้นที่ รวม 13 จังหวัด เป็นระยะทางไม้ไผ่ทั้งสิ้น 112,655 เมตร

กรมทะเลและชายฝั่ง

เกิดการสะสมของตะกอนดิน เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน

สำหรับในพื้นที่บ้านเกาะแมว จันทบุรีแห่งนี้ กรมได้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2556 ระยะทาง 1,000 เมตร และในปี พ.ศ. 2558 ระยะทาง 2,000 เมตร โดย ทช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศชายฝั่งทะเล (หาดโคลน) ภายหลังการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น ท้องที่จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ.2563

โดยศึกษาในพื้นที่ป่าชายเลนบ้านเกาะแมว ซึ่งศึกษาโครงสร้างป่า องค์ประกอบของชนิดไม้ป่าชายเลน ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลน โดยการวางแปลงตัวอย่างหลังแนวไม้ไผ่ที่ปักใน ปี พ.ศ. 2556, 2558 พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างดินเพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของดิน และปักท่อพลาสติก (PVC) ในแปลงตัวอย่างเพื่อประเมินการสะสมของตะกอนดินที่เกิดขึ้น

กรมทะเลและชายฝั่ง

นอกจากนี้ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าชายเลนหลังปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี พ.ศ. 2556 และ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการปักไม้ไผ่ การมีส่วนร่วมและความพึงพอใจของประชาชนต่อการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น โดยทำแบบสอบถามกับประชาชนที่อยู่รายรอบป่าชายเลนบ้านเกาะแมว

ผลการศึกษาพบว่า แสมทะเลเป็นพันธุ์ไม้เด่นในพื้นที่รองลงมาได้แก่ แสมขาว ความหลากหลายของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมีค่าค่อนข้างต่ำ โดยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนชนิดอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ฝาดดอกขาว โปรงแดง และโกงกางใบเล็ก ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่จะพบอยู่หลังแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี พ.ศ. 2556

นอกจากนี้ กลุ่มไม้แสมมีการทดแทนตามธรรมชาติได้ดี กล้าไม้และลูกไม้มีความหนาแน่นสูง โดยเฉพาะหลังแนวไม้ไผ่ ในระยะ 0-20 เมตร ซึ่งลูกไม้ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นนี้ เปรียบเสมือนรั้วธรรมชาติที่คอยช่วยลดความรุนแรงของคลื่น และช่วยการสะสมของตะกอนดิน โดยตะกอนดินทรายมีการสะสมและเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ในพื้นที่ปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี พ.ศ. 2556 หลังแนวไม้ไผ่ ระยะห่าง 20 เมตร

ในขณะที่พื้นที่ปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี พ.ศ. 2558 ปริมาณตะกอนทรายมีการสะสมมากในระยะห่างจากหลังแนวไม้ไผ่ 40 เมตร การสะสมของตะกอนดินที่เพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่ป่าชายเลน บ้านเกาะแมวเพิ่มขึ้น จำนวน 189.48 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น

กรมทะเลและชายฝั่ง

การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าชายเลน ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่รายรอบป่าชายเลนบ้านเกาะแมว มีความพึงพอใจในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น

นอกจากนี้ป่าชายเลนบริเวณนี้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านมีการเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น เช่น การจับสัตว์น้ำ ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มีอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงควรที่จะต้องเร่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยด่วน จึงต้องเริ่มกระบวนการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันของภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการทั้งภาครัฐและประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่  ได้เสนอแนะและให้ข้อแนะนำในการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในพื้นที่ เพื่อนำไปวางแผนการดำเนินงานในโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ว่าการปักไม้ไผ่บริเวณพื้นที่เดิมควรมีการปักเพิ่มออกมาอีกจำนวน 1-2 แถว เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของคลื่น ช่วยสะสมตะกอนดินและทำให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น ควรมีการซ่อมแซมแนวไม้ไผ่ที่หักหรือพัง เพื่อให้แนวไม้ไผ่มีความแข็งแรงขึ้น ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ควรเป็นไผ่ตง หรือไผ่อื่นๆ ที่มีความหนา มีขนาดลำใหญ่ ซึ่งจะทนทานต่อการทำลายของเพรียงทะเลและแรงปะทะของคลื่น

รวมถึงควรปักไม้ไผ่ให้ลึก การปักไม้ไผ่ในพื้นที่ใหม่ควรปักในระยะห่างจากชายฝั่ง ประมาณ    30-50 เมตร ไม่ควรห่างจากแนวชายฝั่งมากเกินไป ซึ่งทำให้ไม้ไผ่หักและหลุดได้ง่าย และควรจะปักไม้ไผ่เป็น 2 แถว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและช่วยลดแรงคลื่นได้มากขึ้น

การปักแนวไม้ไผ่ในพื้นที่ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของประชาชน ควรมีการแจ้งไปยังเจ้าของพื้นที่ โดยเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ยินดีให้ปักไม้ไผ่ในที่ดินของตนเอง แต่ต้องการให้มีการเจรจาหลังจากที่ได้ป่าชายเลนและพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคต

จากการศึกษา และการสำรวจประชาชนในพื้นที่นับเป็นความสำเร็จของการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น

“อย่างไรก็ตามกรมก็จะศึกษาและพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การแก้ปัญหาไม่กระทบต่อระบบนิเวศ คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด“ ผอ.กอช. กล่าว

DJI 0598

บทบาทสำคัญบริหารจัดการป่าชายเลน

นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1   กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ภาคตะวันออก กรม ทช. มีสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (สทช.1) ดูแลพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ภาคตะวันออกมีทรัพยากรป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้และร้างรายได้ให้กับชุมชน

ตลอดจนมีพื้นที่ป่าในเมืองขนาดใหญ่อยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองอย่าง “ป่าชายเลนในเมือง พระเจดีย์กลางน้ำ อัญมณีหนึ่งเดียวในจังหวัดระยอง” และ “มหัศจรรย์ป่าชายเลน ทุ่งโปรงทองปากน้ำประแส” เป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ดังนั้นป่าชายเลนจะอุดมสมบูรณ์ได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลของกรม

โดยปัจจุบันพื้นที่ในความดูแลของ สทช. 1 มีชุมชนชายฝั่งรวม 84 กลุ่ม/2,637 คน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลรวม 4,067 คน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนอย่างสมดุลและยั่งยืน

รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ปรับตัวเข้าสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อช่วยให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน โดยมีกรมเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนบุคลากร เรือตรวจการณ์ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงให้คำปรึกษาในด้านกฎ ระเบียบของกรม และฝึกอบรมภาคปฏิบัติในการลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบสถานการณ์ทางทะเลและป่าชายเลนด้วย

กรมทะเลและชายฝั่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo