Technology

ทำความรู้จัก ‘Digital Risk-Digital Inequality’ นิวเทรนด์ไอทีโลก

“อ.ปริญญา” ไขข้อข้องใจ ทำไม Digital Risk และ Digital Inequality กำลังเป็น new trend ของโลกในเวลานี้ 

ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) กำลังปฏิวัติโลกครั้งใหญ่ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ มิติ

Digital Risk

แม้จะมองแค่มิติทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพียงด้านเดียว ก็จะพบว่า ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ คน องค์กร และประเทศ จะต้องรู้ และตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่รุกคืบเข้ามาทุกขณะ

อ.ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า พื้นฐานสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ต้องรู้และตามให้ทันนับจากนี้ไปมี 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่

1. จากความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ไปสู่ความเสี่ยงด้านดิจิทัล (From Cyber Risk to Digital Risk)

2. จากความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันทางดิจิทัล (From Digital Divide to Digital Inequality)

นี่คือที่มาว่า ทำไม Digital Risk และ Digital Inequality กำลังเป็น new trend ของโลกในเวลานี้

อ.ปริญญา 1 1
ปริญญา หอมเอนก

ที่ผ่านมา เรารู้จัก Cyber Risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) เช่น มัลแวร์ ฟิชชิ่ง แรนซัมแวร์ มักจะเป็นความเสี่ยงภัยที่มาจากปัจจัยภายนอก

หากแต่องค์กรสามารถสร้างระบบ ระเบียบ นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และ ฝึกวินัย เพื่อป้องกันภัยเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง

แต่ความหมายของ Cyber Risk ยังไม่รวมไปถึงการหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุนที่นำเสนอผลตอบแทนสูง แต่สุดท้ายแล้วสูญเงินทั้งต้นและผลตอบแทน ซึ่งเกิดกับประชาชนคนไทยหลายพันคน เป็นต้น

สำหรับ Digital Risk เป็นความเสี่ยงภัยรูปแบบใหม่ที่เกิดจากสิ่งใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีใหม่ กฎระเบียบใหม่ หรือ การให้บริการใหม่ๆ ฯลฯ

ยกตัวอย่างเช่น Technology Risk เทคโนโลยีที่ใช้มีช่องโหว่, Automation Risk เกิดจากการตัดสินใจผิดของ AI, Compliance Risk เกิดจากองค์กรไม่มีความแม่นยำในเรื่องกฎระเบียบ กฏหมาย, Data Privacy Risk องค์กรนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปใช้โดยไม่ได้ขอความยินยอม ฯลฯ

info 7 Digital Risk 11092022 1

แนวโน้มใหม่ ๆ เหล่านี้ สามารถป้องกันได้ ถ้าเข้าใจ และ รู้ทันภัย โดยการนำแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่ถูกต้องมาใช้

สำหรับ ความไม่เท่าเทียมกันทางดิจิทัล (Digital Inequality) หมายถึง ความเหลื่อมล้ำทางความรู้และทักษะ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คนมีสมาร์ทโฟนใช้เหมือนกัน แต่คนกลุ่มหนึ่งมีความสามารถในการตั้งค่าความปลอดภัย ไม่ให้แอปเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ภายในเครื่อง ส่วนคนอีกกลุ่มไม่รู้และไม่มีทักษะดังกล่าว

งานวิจัยของ Center for Long-Term Cybersecurity (CLTC) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในหัวข้อ Improving Cybersecurity Awareness in Underserved Populations ระบุว่า ผู้ที่ด้อยโอกาสส่วนใหญ่ จะมีความรู้ความเข้าใจและทักษะพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต่ำกว่ากลุ่มคนที่มีโอกาส

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ความเสี่ยงด้านดิจิทัล และ ความเสี่ยงภัยไซเบอร์ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่นกันกับ Digital Inequality และ Digital Divide ทั้งสองประเด็นนี้เป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก

ดังนั้นผู้บริหารองค์กร ตลอดจนผู้นำหน่วยงานระดับชาติ ต้องเตรียมความพร้อมให้เร็วที่สุด เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านดิจิทัล และความไม่เท่าเทียมกันทางดิจิทัล สภาวะใหม่ในยุคที่มีแต่ความเปราะบาง ความวิตกกังวล คาดเดาได้ยาก และยากที่เข้าใจได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo