Technology

จีนหนุน ‘IPv6’ ระบบอินเทอร์เน็ตใหม่ ปิดทางซ่อนตัวตนบนโลกออนไลน์

จีนกำลังผลักดัน ให้ทั่วโลกหันมาใช้รูปแบบการควบคุมข้อมูล ที่ส่งผลผ่านอินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ต โปรโตคอล (Internet Protocol) แบบใหม่ ซึ่งอาจทำให้อินเทอร์เน็ตมีขนาดใหญ่ขึ้น และเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะปิดบังตัวเองได้น้อยลง

เทคโนโลยีใหม่นี้ มีชื่อเรียกว่า “IPv6” เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาจากโครงสร้างของอินเทอร์เน็ต ที่อาจเปิดทางให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายล้านล้านเครื่อง มีเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) เฉพาะของตัวเองบนโลกออนไลน์

GettyImages 639193767

ระบบอินเทอร์เน็ต ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ IPv4 หรือ เวอร์ชั่นที่ 4 ซึ่งใช้กันมานานหลายสิบปีแล้ว และพื้นที่ก็กำลังหมดไปเรื่อยๆ

ในทศวรรษ 90 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เว็บไซต์เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วนั้น บรรดานักเทคโนโลยี ต่างออกมาเตือนว่า มี IP Address ที่ใช้งานได้อยู่ราว 4,300 ล้านเลขเท่านั้น และในที่สุดแล้ว จำนวนอุปกรณ์ออนไลน์ต่างๆ อย่าง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แทบเล็ต และอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาย ก็จะมีมากกว่าจำนวน IP Address ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ออกมา เข้าสู่โลกออนไลน์ไม่ได้

เมื่อปี 2541 บรรดาวิศวกรคอมพิวเตอร์ ได้เสนอแผนพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตภายใต้โปรโตคอลใหม่ โดย Internet Engineering Task Force (IETF) องค์กรที่รับผิดชขอบในการกำหนดมาตรฐานอินเทอร์เน็ต ได้พัฒนาโปรโตคอลการสื่อสารแบบใหม่ “IPv6” ขึ้นมา โดยมีพื้นที่ IP Address ขนาด 128 บิต เทียบกับ IPv4 ที่มีอยู่ 32 บิต ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

GettyImages 1211443622

ระบบดังกล่าว ที่นำเทคนิค Routing ยังให้คำมั่นถึงจะทำให้อินเทอร์เน็ตแบบใหม่ ไม่เพียงแต่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย โดยในการนำเสนอทางด้านเทคนิค ในการประชุมเทคโนโลยีโลกเมื่อเดือนที่แล้ว แอปเปิ้ล อิงค์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ ได้แสดงสถิติอินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง ในความพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักพัฒนาแอปพลิเคชัน ให้ยอมรับใน IPv6

“เมื่อ IPv6 ถูกนำมาใช้ ค่าเฉลี่ยกลางในการเชื่อมต่อจะเร็วขึ้นถึง 1.4 เท่าเมื่อเทียบกับ IPv4” ไจเทน เมห์ตา วิศวกรเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของแอปเปิ้ล ระบุ

เนื่องจาก IPv6 จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเลขที่อยู่ไอพี รัฐบาลจีนจึงพิจารณาที่จะสร้างเลขที่อยู่เฉพาะ และไม่ซ้ำกับใครในโลกให้กับประชาชนแต่ละคน เปรียบเสมือนตัวเลขประชาชนออนไลน์แล้ว

หวู เฮ่อฉวน ประธานกลุ่ม Internet Society of China และรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ China Next Generation Internet ให้ความเห็นว่า ความสำเร็จในด้านนี้จะทำให้จีนสามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น

GettyImages 1197243194

ประเด็นดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์นอกประเทศจีนมองว่า เป็นจุดที่ทำให้ผู้นำจีนสนใจการเร่งพัฒนาระบบนี้อย่างมาก และยกแผนงานนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับชาติไปแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบใหม่นี้ จะทำให้การใช้งาน VPN หรือ Virtual Private Network หรือ ซอฟต์แวร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากใช้ เพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ หรือปิดกั้นระบบในบางพื้นที่ แทบเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo