Technology

กรมชลฯ เปิดตัว ‘เรดาร์ Solid-State Polarimetric X-Band’ ต้นแบบบริหารจัดการน้ำ

กรมชลประทาน จับมือ MIC ประเทศญี่ปุ่น เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoC) ร่วมกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น (MIC) ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band

เรดาร์ Solid-State

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ ในการป้องกันภัยพิบัติ ตามมติที่ประชุมระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น (MIC) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บริษัท Japan Radio Co.,Ltd (JRC) และบริษัท Nippon Koei Co.,Ltd.

สำหรับระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยติดตั้งเป็นแห่งแรกของกรมชลประทาน ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณสถานีสำรวจทางอุทกวิทยา S.42 อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ที่มักจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ จากสภาพทางภูมิประเทศที่ลาดชัน

กรมชล7

สถานีเรดาร์ดังกล่าว จะทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ได้แบบ near real time สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำป่าสักไปจนถึงท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

นอกจากนี้ ระบบเรดาร์ จะวัดข้อมูลฝนเชิงพื้นที่ ที่มีความละเอียดสูง พร้อมระบบการจัดเก็บข้อมูลประมวลผลเรดาร์ผ่าน J-BIRDS Software ที่จะแสดงข้อมูลปริมาณฝนสะสม ความเข้มของฝน รวมทั้งการเคลื่อนที่ของลมหรือพายุ

กรมชล

จากนั้น จะถูกนำไปประมวลผล ด้วยแบบจำลองอุทกพลศาสตร์ (Hydro-dynamic Model) ที่ติดตั้งอยู่ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ร่วมกับข้อมูลอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลตรวจวัดระดับน้ำ และปริมาณน้ำท่าจากระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม นำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ และระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ

การทำงานดังกล่าว จะทำให้สามารถประเมินปริมาณน้ำ ที่จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนป่าสักฯ สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที ช่วยบรรเทาและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้เป็นอย่างยิ่ง

กรมชล ปก

ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้อีกทางหนึ่งด้วย

กรมชลประทาน จะนำระบบการบริหารจัดการน้ำด้วยเรดาร์ตรวจอากาศดังกล่าว มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม รวมทั้งจะใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo