Technology

‘เคทีซี’ จับมือ ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ จัดเสวนา ‘KTC FIT Talks #8’ รู้ทันภัยไซเบอร์ คิดก่อนคลิกทำธุรกรรมการเงิน

“เคทีซี” ร่วมกับ “กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เปิดเวทีเสวนา “KTC FIT Talks #8” รู้ทันภัยไซเบอร์ คิดก่อนคลิกทำธุรกรรมการเงิน ติดอาวุธทางความคิดให้คนไทย พร้อมรับมือความเสี่ยงก่อนทำธุรกรรมการเงิน บนโลกออนไลน์ แนะวิธีสังเกต และเทคนิคการป้องกัน

นายไรวินทร์ วรวงษ์สถิตย์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานควบคุมงานปฏิบัติการและปฏิบัติการร้านค้า บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี กล่าวว่า ในยุคที่นวัตกรรมดิจิทัลเติบโตแบบก้าวกระโดด ธุรกรรมต่าง ๆ ย้ายมาอยู่บนออนไลน์ ทำให้ชีวิตของผู้คนทุกกลุ่มทุกวัยได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบัน มีภัยเงียบจากอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ผู้บริโภคควรตระหนักรู้ก่อนการทำธุรกรรมการเงินทุกครั้ง

786563

เคทีซี ในฐานะผู้นำธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ได้ศึกษาและพัฒนาระบบบริหารการป้องกันภัยทุจริตให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมการเงินได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และแน่นอนว่า การป้องกันภัยจากการทุจริตต่างๆ จะเกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น หากสมาชิกและผู้บริโภคได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และร่วมกันป้องกันตนเองในเบื้องต้น

ภัยไซเบอร์ ที่มิจฉาชีพหลอกขอข้อมูลสำคัญกับผู้เสียหายโดยตรง

  • Phishing หลอกขอข้อมูลบัตรเครดิต พร้อมรหัส OTP เพื่อนำไปซื้อสินค้าออนไลน์
  • Phishing หลอกขอข้อมูลส่วนตัว พร้อมรหัส OTP เพื่อให้เข้าครอบครองแอปพลิเคชัน หรือโมบาย แบงค์กิ้ง (Mobile Banking) ของผู้เสียหาย
  • แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ หลอกให้โอนเงิน โดยแอบอ้างมาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น DHL, DSI สถานีตำรวจ และอื่น ๆ
  • มิจฉาชีพ หลอกล่อให้กดลิงค์ดาวน์โหลดเพื่อติดตั้งโปรแกรมและเข้าควบคุม (Remote Control) เครื่องสมาร์ทโฟนของผู้เสียหาย

นายไรวินทร์ ระบุว่า การหลอกขอข้อมูลส่วนตัว เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะคนส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ มากขึ้น จึงเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพเข้าหลอกล่อได้ง่ายผ่าน SMS หรือแอปพลิเคชันโซเชียล มีเดีย โดยจะหลอกให้เพิ่มบัญชี Line Official ปลอม จากนั้นจะโทรศัพท์มาพูดคุย และให้ทำตามขั้นตอน เพื่อติดตั้งแอปปลอม ซึ่งเป็นระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์เป็นหลัก และหลอกให้เหยื่อตั้งรหัสเพื่อเข้าแอปปลอม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรหัสเดียวกันกับแอปโมบาย แบ็งค์กิ้งของเหยื่อ

786562

หลังจากมิจฉาชีพเข้าควบคุมสมาร์ทโฟนของเหยื่อสำเร็จ ระบบหน้าจอจะค้างอยู่ บางแอปหน้าจอจะค้า งและขึ้นว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงไม่สามารถกดปิดหรือออกจากแอปนี้ได้ ระหว่างนี้มิจฉาชีพจะเข้าไปยังโมบาย แบ็งค์กิ้งของสถาบันต่าง ๆ โดยใช้รหัสที่หลอกให้เหยื่อตั้งรหัสตอนแรก แล้วโอนเงินออกไปยังบัญชีปลายทาง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ต้องดาวน์โหลดแอปผ่าน App store หรือ Play store เท่านั้น

ทางด้านนายนพรัตน์ สุริยา ผู้บริหารแผนกสืบสวนทุจริต “เคทีซี” กล่าวว่า แนวทางป้องกันให้ไกลจากมิจฉาชีพมี 4 ข้อ คือ ติดตามเหตุการณ์ทุจริตจากข่าวสารในสื่อต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน เพราะมิจฉาชีพมักจะใช้มุกใหม่อยู่เสมอ

ตระหนักเสมอว่าของถูกไม่มีดี ของฟรีไม่มีในโลก You get what you pay for มิจฉาชีพมักจะส่ง SMS มอบของกำนัลต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เหยื่อ ติดกับดักอยู่เสมอ หยุดคิดก่อนคลิกลิงค์ต่าง ๆ ที่ตนเองไม่ได้ร้องขอ เพราะ Phishing เป็นจุดเริ่มต้นของกับดัก ลิงค์ที่แนบมาเป็นการให้เหยื่อเพิ่ม Line ปลอมของมิจฉาชีพ หรือลิงค์อาจจะถูกฝังมาด้วยมัลแวร์ (Malware)

ตรวจสอบเพื่อความแน่ใจ อย่าหลงเชื่อการล่อลวง ซึ่งมิจฉาชีพมักใช้จิตวิทยาเล่นกับความโลภ และความกลัว เข้ามาหลอกล่อให้ติดกับดักอยู่เสมอ เช่น แอบอ้างเป็น DSI แจ้งว่าบัญชีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือแจ้งว่าเป็นผู้โชคดีได้รับบัตรกำนัลได้ตั๋วเครื่องบินฟรี

786566

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ การตั้งค่าปิด-เปิดฟังก์ชัน และตั้งเตือนต่างๆ บนสมาร์ทโฟน เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูล กรณีที่พลาดเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้ว ส่วนที่ควรปิด คือ การตั้งค่าการช่วยเหลือพิเศษ ในการเข้าถึงฟีเจอร์ช่วยเหลือจากหน้าจอใดก็ได้ กลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพใช้รีโมทเข้าควบคุมสมาร์ทโฟนของเหยื่อ

ส่วนที่ต้องเปิด คือ การตั้งค่าแจ้งเตือนธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ของโมบาย แบงค์กิ้งผ่านอีเมล หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ได้รับรู้ทุกธุรกรรมการเงิน รวมทั้งตัดสัญญาณสมาร์ทโฟน หรือ wifi ให้เร็วที่สุด ด้วยการกดปุ่ม Force Shutdown หากยังไม่สามารถปิดเครื่องได้ ให้หาวิธีดึงซิมการ์ดโทรศัพท์ออกเพื่อตัดสัญญาน และรีบติดต่อธนาคารและแจ้งความทันที

สำหรับสมาชิกเคทีซี แนะนำให้เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ด้วยการดาวน์โหลด และใช้แอป “KTC Mobile” ซึ่งปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นล็อกอินด้วยรหัสผ่าน 6 หลัก บนแป้นพิมพ์แบบไดนามิค เพื่อการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบผ่านการสแกนลายนิ้วมือ หรือสแกนม่านตาสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนซัมซุง กาแล็กซี

สะดวกด้วยระบบตั้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรทุกรายการ และยังสามารถกำหนดยอดใช้จ่ายที่ต้องการ พร้อมตั้งเตือนก่อนวันชำระ รวมทั้งบริการจำเป็นอื่น ๆ ที่ลูกค้าสามารถตั้งค่าทำรายการได้ด้วยตนเอง เช่น การอายัดบัตรชั่วคราว การกำหนดวงเงินและการขอวงเงินชั่วคราว

นอกจากนี้ เคทีซียังได้ปรับข้อความเมื่อส่งรหัสผ่านสำหรับใช้ครั้งเดียว หรือ OTP โดยย้ำเตือนให้สมาชิกระมัดระวังการแจ้งรหัสให้กับบุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตเข้าถึงบัญชี

786564

ขณะที่ พ.ต.ต.เทียนชัย เข็มงาม สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า  ทางหน่วยงานได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ซึ่งเคทีซีเป็นหน่วยงานภาคเอกชนแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง และติดตามเหตุผิดปกติวิสัย ที่อาจนำไปสู่การทุจริตของมิจฉาชีพ

ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้พัฒนาไปในหลายรูปแบบ และกลายเป็นปัญหาที่รบกวน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคประชาชนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำงานพบว่า ประเภทคดีที่มีจำนวนมิจฉาชีพมากที่สุดคือ หลอกลวงซื้อขายสินค้า

นอกจากนี้ ยังพบเจอคดีอีกหลายรูปแบบ อาทิ หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม หลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หลอกให้ลงทุนออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

786567

วิธีสังเกต-ดูแลตนเองเบื้องต้น เกี่ยวกับอาชญากรรมทางออนไลน์

  • ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ และควรติดตั้งแอปพลิเคชันจาก App Store หรือ Play Store เท่านั้น
  • อัพเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ และแอปพลิเคชันให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
  • หมั่นติดตามข่าวสารจากทางราชการ รวมถึงแจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ตัว เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือขอรับคำปรึกษา และคำแนะนำได้ที่โทร 1441

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo