Digital Economy

‘ดีอี’ ร่วมมืออาเซียน ทำเอ็มโอยูกัมพูชา แก้ปัญหา ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’

ดีอี เป็นประธาน คณะทำงาน ASEAN Working Group on Anti Online Scams พร้อมร่วมลงนาม เอ็มโอยูกับกัมพูชา เร่งแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในไทยและอาเชียน

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน จัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Working Group on Anti – Online Scams เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีการประชุมกันครั้งที่ 1 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา

แก๊งคอลเซ็นเตอร์

อย่างไรก็ตามการประชุมคณะทำงาน WG-AS ถือเป็นผลสำเร็จของประเทศไทย ที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าวในระดับภูมิภาคอาเซียนขึ้น เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือ และประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก ในการต่อสู้กับภัยหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ และระดับอาเซียน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นทั้ง ปริมาณของการหลอกลวง (cases) และมูลค่าความเสียหาย

ขณะเดียวกัน ระหว่างการประชุม WG-AS มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันการหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียน มีหลากหลายช่องทาง อาทิ SMS โทรศัพท์ และผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบ แนวทางการจัดการปัญหา การตอบโต้มิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมจำนวนซิม หมายเลขโทรศัพท์มือถือ การลบหรือปิดกั้น URL การเจรจากับผู้ประกอบการสื่อสังคมออนไลน์ การปราบปรามและจับกุม การให้ความรู้และแจ้งเตือนประชาชน

ทั้งนี้ พบว่า ยังมีช่องว่างหรือ Gaps จากการดำเนินมาตรการของแต่ละประเทศ และยังไม่มีแนวทางที่ผู้เสียหายจะได้รับเงินคืน ที่ประชุมจึงมีการตกลงให้มีแลกเปลี่ยน และรวบรวมข้อมูลระหว่างกัน อาทิ สถานะ นโยบาย การกำกับดูแล กฎระเบียบ มาตรการต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ เพื่อยกระดับไปสู่มาตรการ และนโยบายการป้องกัน และปราบปราบการหลอกลวงออนไลน์ในระดับอาเซียน เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์ในอาเซียน  การกำหนดกลไกประสานงานโดยแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักของแต่ละประเทศ เพื่อติดต่อและประสานความร่วมมือได้อย่างทันท่วงที และแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเฉพาะภัยหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง การพิจารณาแผนการทำงานของคณะทำงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมหารือทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น อาทิ แนวทางการจัดทำกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ระหว่างอาเซียน การจัดประชุม/สัมมนา การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญ องค์กรระหว่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ

แก๊งคอลเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ ดีอียังหารือทวิภาคี กับ H.E. Chenda Thong ประธานหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมกัมพูชา (TRC) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเป็นการยกระดับการดำเนินการเพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ  ที่ไทยมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความร่วมมือ และการดำเนินงานของอาเซียน ในการจัดการ และรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์

ไทยได้แลกเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับกัมพูชา ซึ่งพบว่าหลายเรื่องมีแนวทางดำเนินการคล้ายกัน แต่มีข้อสังเกตว่ากัมพูชามีแนวทางในการปิดกั้น URL ที่เข้าข่ายหลอกลวง และการส่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และ ISP ดำเนินการปิดกั้นที่มีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

กัมพูชาพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยเกี่ยวกับปัญหาที่คนไทยข้ามแดนไปทำงาน เป็นแก๊ง คอลเซ็นเตอร์ ปัญหาบัญชีม้า และในกรณีที่มีการจับและส่งตัวกลับ หรือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีชั้นความลับ หรืออาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นควรให้มีการประสานงานกับสถานทูตไทยในกัมพูชาอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันให้มีแพลตฟอร์มในการติดต่อระหว่างกัน

นายวิศิษฏ์ ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการขยายกรอบความร่วมมือเดิม โดยจัดทำความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MOU) ฉบับใหม่ เพื่อขยายขอบเขตของความร่วมมือ ที่จะทำให้ทั้งไทย และกัมพูชาสามารถทำหลาย ๆ เรื่องในการป้องกันภัยจากเทคโนโลยีได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งจากการหารือ กัมพูชายินดีร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานสัญญาณโทรคมนาคมผิดกฎหมายบริเวณชายแดน โดยสำนักงาน กสทช. จะประสานงานกับทาง TRC และในด้าน Cybersecurity กัมพูชาแสดงความยินดีที่ สกมช. จะให้การสนับสนุน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ThaiCERT และ CambodiaCERT ที่ดีระหว่างกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo