Digital Economy

กสทช. เปิดประมูลวงโคจรดาวเทียม 15 ม.ค.นี้ หลังประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ 3 ราย

กสทช. เดินหน้าประมูลสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียม 15 มกราคมนี้ หลังอนุมัติผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ใช้วิธีเปิดประมูลทีละชุด เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่

shutterstock 354100760 1

  • บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด
  • บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT
  • บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

ทั้งนี้ ทั้ง 3 บริษัทจะมีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ สำนักงาน กสทช.

สำหรับวิธีการประมูลครั้งนี้ จะมีการเปิดการประมูลทีละชุด (ลำดับชุดที่จะประมูล กสทช.จะกำหนดในวันประมูล) โดยผู้เข้าร่วมประมูล ต้องเข้าร่วมประมูลไม่น้อยกว่าจำนวนชุดที่วางหลักประกัน และจะไม่ทราบจำนวนชุดของผู้เข้าร่วมแข่งขันรายอื่น เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล

การประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งชันที่โปร่งใส และเป็นธรรมมากที่สุด และตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) อีกทั้งยังเร็วขึ้นได้ หากผู้ข้าร่วมทุกรายเห็นชอบ

ขณะที่เคาะหนึ่งครั้ง จะทำให้ราคาสูงขึ้น 5/% ของราคาขั้นต่ำในแต่ละชุด โดยผู้ชนะคือ ผู้ที่ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด และชำระตามราคาที่ผู้ออกจาการประมูลคนสุดท้ายเสนอราคาไว้ ซึ่งนายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช. จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

การประมูลครั้งนี้ กสทช. ตั้งเป้าจะสามารถประมูลได้อย่างน้อย 3 ชุด และแต่ละชุดจะสามารถประมูลได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยคาดว่าชุดที่ 3 น่าจะมีผู้สนใจเข้าประมูลมากที่สุด เนื่องจากตำแหน่งวงโคจร (องศาตะวันออก) ที่ 119.5 ข่ายงานดาวเทียม ราคาขั้นต่ำ 397,532,000 ล้านบาท โดย THACOMP1 จะสามารถใช้สิทธิได้ภายหลังวันสิ้นสุดอายุวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 (ปี 2566) หรือตามที่ กสทช. กำหนด

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

กสทช. ยังได้กำหนดให้ผู้ชนะการประมูล ต้องมีหน้าที่จัดช่องสัญญาณ สำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในแต่ละชุดของข่ายงานดาวเทียมจำนวน 1 transponder กรณีดาวเทียม broadcast และจำนวน 400 Mbps กรณีดาวเทียม broadband

เมื่อหากเทียบกับสัมปทานเดิม รัฐได้รับทั้งหมดเพียง 1 transponder เท่านั้น ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวงก็ตาม รวมทั้งในชุดที่ 3 ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถตั้งสถานีควบคุมบริหารจัดการดาวเทียม ในส่วนที่รัฐรับผิดชอบได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ในชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร(องศาตะวันออก)ที่ 126 ก็เป็นที่น่าสนใจเพราะผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่าย เพราะราคาเริ่มต้นของชุดข่ายงานดาวเทียมนี้กำหนดเพียง 8,644,000 ล้านบาท แต่ข่ายงานดาวเทียม THAISAT-126 ยังต้องมีการประสานงานคลื่นความถี่ในย่าน X ที่ถูกจำกัดให้ใช้งานในกิจการด้านห้วามมั่นคง/ประโยซน์สาธารณะ และในย่าน Ka (28 GH2) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้คลื่นความถี่ร่วมกันกับกิจการอื่นตามที่ กสทช. จะกำหนดต่อไป

สำหรับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงได้ใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นวิธีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo