Digital Economy

‘THCOM’ จ่อคว้าไลเซนส์ดาวเทียมรอบใหม่ แบบไร้คู่แข่ง!!

“THCOM “จ่อคว้าไลเซนส์ดาวเทียมรอบใหม่แบบไร้คู่แข่ง แม้ว่า กสทช. คาดจะมีผู้สนใจร่วม 2-3 ราย ความเป็นไปได้สูงสุด ขณะนี้อาจมีเพียงแค่ THCOM ที่มีความพร้อมสำหรับธุรกิจดาวเทียมในไทย

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมรอบใหม่ จำนวน 5 ชุด โดยมีรายละเอียดและราคาประมูลเริ่มต้น ดังนี้
ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นประมูล 374 ล้านบาท
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นประมูล 360 ล้านบาท
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นประมูล 397 ล้านบาท
ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นประมูล 8 ล้านบาท
ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นประมูล 189 ล้านบาท

ดาวเทียมรอบใหม่

ไทม์ไลน์การประมูลจะเริ่มเปิดรับเอกสารการคัดเลือกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4 – 30 พฤศจิกายน 2565 จากนั้น จะจัด Info session เพื่อชี้แจงการเตรียมเอกสารในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 และจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาตในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 จากนั้น กสทช. จะทำการตรวจคุณสมบัติโดยใช้เวลา 1 สัปดาห์ และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 4 มกราคม 2566 พร้อมจัดประมูลจริงในวันที่ 8 มกราคม 2566

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงรายเดียว จะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกไม่น้อยกว่า 14 วัน ทำให้การประมูลจริงจะเกิดเลื่อนไปเกิดขึ้นในวันที่ 29 มกราคม 2566 ขั้นตอนหลังจากนั้น กสทช. จะจัดให้มีการประชุมรับรองผลการประมูลภายใน 7 วันหลังการประมูล

THCOM ไร้คู่แข่งคว้าไลเซนส์ดาวเทียม

การประมูลวงโคจรดาวเทียมรอบใหม่นี้ แม้ว่า กสทช. คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 2-3 ราย ทว่าความเป็นไปได้สูงสุดในขณะนี้อาจมีเพียงแค่ THCOM หรือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่มีความพร้อมสำหรับธุรกิจดาวเทียมในประเทศไทย

นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า THCOM จะเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสำหรับเข้าประมูลวงโคจรดาวเทียม โดยคาดว่า THCOM จะเลือกเข้าประมูลวงโคจรชุดที่ 2 ของ กสทช. เพียงชุดเดียว ราคาเริ่มต้นประมูล 360 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้งานรองรับในการยิงดาวเทียมไทยคม 9 ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งจะทดแทนหรือย้ายจากดาวเทียมไทยคม 4 ที่กำลังปลดระวางในช่วงสิ้นปี 2567

ปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 4 มีลูกค้าใช้งานอัตราการใช้ช่องสัญญาณ (Utilization Rate) อยู่ในระดับราว 10% ของความสามารถในการให้บริการทั้งหมดของดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งทำรายได้ให้กับ THCOM ประมาณ 1,00-1,500 ล้านบาทต่อปี

ดาวเทียมรอบใหม่

ในเบื้องต้นจึงประเมินว่ากาประมูลวงโคจรดาวเทียมรอบใหม่จะเป็นปัจจัยบวกต่อกำไรรวมในปี 2566 ของ THCOM เพิ่มเป็นประมาณ 600 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 400 ล้านบาท เนื่องจากมีโอกาสที่บริษัทจะสามารถขายช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยได้เพิ่มมากขึ้น และการชนะประมูลได้สิทธิใช้งานวงโคจร จะทำให้ลูกค้าของ THCOM มีความมั่นใจมากขึ้น จากการใช้งานที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังมีโอกาสเข้าไปทำตลาดให้ลูกค้าในต่างประเทศ ได้แก่ อินเดียที่ยังมีดีมานด์ใช้งานดาวเทียมบรอดแบนด์ที่สูง รวมถึงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่มีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย รวมถึงออสเตรเลียด้วย

สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนครั้งนี้ ปัจจุบัน THCOM มีเงินสดภายในบริษัทประมาณ 6,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันหลังจากการที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  หรือ GULF ประกาศเข้าซื้อหุ้นของ THCOM ทั้งหมดที่ถือโดย INTUCH ที่สัดส่วน 41.13% ส่งผลให้บริษัทมีความพร้อมมากยิ่งขึ้นของแหล่งเงินลงทุนในธุรกิจดาวเทียม

GULF

โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมดาวเทียมมีลักษณะที่จะเป็นธุรกิจผูกขาดพอสมควร เพราะถึงแม้จะมีการเปิดประมูวงโคจรได้แบบเสรี แต่ก็มักจะมีข้อจำกัดในการเข้ามาทำธุรกิจนี้ ทั้งเรื่องเงินทุน ตลอดจนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ ทำให้เป็นธุรกิจที่คู่แข่งหลายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ค่อนข้างยาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน