CSR

คิงเพาเวอร์ส่ง‘ห้องน้ำชุมชน’…ปลดทุกข์นักท่องเที่ยว

“ท่องเที่ยว”เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก สร้างรายได้เข้าประเทศ  ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย 35.38 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการ  หรือเพิ่มขึ้น 8.77%  จากปี 2559 สร้างรายได้การท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ 1.82 ล้านล้านบาท เติบโต 11.66%

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทย เดินทางในประเทศ ปีก่อน 152 ล้านคนครั้ง เพิ่มขึ้น 4.39% สร้างรายได้ 9.3 แสนล้านบาท

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีก่อนที่ระดับ 35 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วน 50% ของประชากรไทย เมื่อรวมกับการเดินทางของคนไทยแต่ละปี ถือว่ามีจำนวนสูงมาก และมีแนวโน้มเติบโตในปีนี้  ดังนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ห้องน้ำ” ที่ถือเป็น pain point เรื่องปราบเซียน!! ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

พลังคนไทย สุขาสุขใจ

สร้างพื้นที่“ปลดทุกข์”  

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาต่อเนื่อง โดยเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สร้างสถิติตัวเลขสูงสุดเช่นกัน  การเติบโตดังกล่าวมาจากจุดเด่นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่มีจำนวนมากในประเทศไทย

อีกทั้งอัตราการเติบโตของแหล่งท่องเที่ยว“ชุมชน” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนของคณะรัฐมนตรี  จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพครบทุกด้าน ตามนโยบาย สะดวก สะอาด ปลอดภัย และทำให้ชุมชนน่าอยู่น่าเที่ยว

หนึ่งในแผนพัฒนาด้านสาธารณูปโภค คือ ห้องน้ำ หรือ ห้องสุขา ที่ได้มาตรฐาน ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย รวมทั้งผู้พิการ เพื่อผลักดันคุณภาพด้านการท่องเที่ยว และชื่อเสียงเมืองน่าท่องเที่ยวของไทย ให้อยู่ในใจนักท่องเที่ยวต่อไป

การตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวใน สถานที่ต่าง ๆ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักอาศัย แล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่จะตัดสินใจท่องเที่ยว หรือไม่ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ดังนั้นภาครัฐจึงประกาศนโยบาย “สุขา สุขใจ” เพื่อสร้าง “ห้องน้ำชุมชน” ที่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับต่างประเทศ ที่สามารถใช้งานได้ทุกวัย ทั้งคนพิการ สูงวัย เด็ก ผู้หญิง และคนทั่วไป

“การท่องเที่ยวถือเป็น การเดินทางมาหาความสุข จากสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามในไทย การสร้างสาธารณูปโภค ห้องน้ำชุมชน ถือเป็นการสร้างพื้นที่ปลดทุกข์ ให้การท่องเที่ยวจบทริปด้วยความสุข”

แนวทางการพัฒนา ห้องน้ำชุมชน หลังจากนี้ จะเพิ่มบริการต่าง ๆ เช่น wifi  หากใกล้แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล จะให้บริการอาบน้ำจืด เป็นต้น  เรียกว่า เป็นการพัฒนา ห้องน้ำชุมชน เป็น ซีรีส์  โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการนี้  จะเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ  เพื่อขยายพื้นที่บริการ ห้องน้ำชุมชน ทั่วประเทศ  พร้อมดึงชุมชนเข้ามาร่วมดูแลรักษา เพื่อให้เป็นอีก “สถานที่” ที่นักท่องเที่ยว ต้องการแวะมาใช้บริการ และเป็นสัมบัติของชุมชนนั้นๆ

พลังคนไทย สุขาสุขใจ

คิงเพาเวอร์ ส่งมอบห้องน้ำชุมชน 70 ห้อง

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ กล่าวว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพื่อร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และมุ่งดำเนินโครงการเพื่อสังคม จากนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับคิงเพาเวอร์ ในการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง

ดังนั้นจึงร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการสร้าง “ห้องน้ำชุมชน” ในแหล่งท่องเที่ยว  โดยคิงเพาเวอร์ เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกแบบและก่อสร้างห้องน้ำ จำนวน 70 ห้อง รวมมูลค่ากว่า 10  ล้านบาท เริ่มแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยและต่างประเทศ

“คิงเพาเวอร์ มุ่งส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแหล่งท่องเที่ยวไทยให้กับชาวไทยและต่างชาติ ครบทุกมิติ โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในแหล่งท่องเที่ยวอย่าง ห้องน้ำ ซึ่งถือได้ว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักๆ ที่จะช่วยสร้างความประทับใจต่อแหล่งท่องเที่ยวได้”

ปัจจุบันห้องน้ำคุณภาพยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของโครงการ “พลังคนไทย สุขาสุขใจ” สุขาที่จัดสร้างจะมีรูปแบบสากล Universal Design สำหรับชาย หญิง และผู้พิการ เพื่อให้เป็นห้องน้ำของทุกคน ที่สะอาด สะดวก สบาย ปลอดภัย ใช้งานได้สำหรับทุกคน ซึ่งตามหลักสากล ถือว่าประเทศนั้น ๆ มีการพัฒนาและมีความพร้อมที่จะดูแลบุคคลทุกเพศ ทุกวัย จะเป็นประโยชน์โดยรวมของประเทศไทยต่อไป

‘ติ๊ก เจษฎาภรณ์’แนะพัฒนาห้องน้ำตอบโจทย์ทุกวัย  

ด้านผู้ผลิตและดำเนินรายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  “เนวิเกเตอร์”  ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี  เล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ว่า การสร้างความประทับใจในแหล่งท่องเที่ยวไทย นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม ความสนุกสนานจากการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ยังต้องการความสะดวกในการใช้ “ห้องน้ำ” ด้วยเช่นกัน

โดยห้องน้ำ ไม่จำเป็นต้องสวยงาม หรือหรูหรา เพียงแต่ต้อง “ตอบโจทย์” การใช้งานของนักท่องเที่ยวแต่ละวัย ทั้งกลุ่มสูงวัย เด็ก ผู้หญิง คนพิการ  และคนทั่วไป ในรูปแบบ Universal Solutions  สำหรับทุกกลุ่ม เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ที่มีความพร้อมด้านอื่น ๆ อยู่แล้ว ทั้ง รอยยิ้ม แหล่งท่องเที่ยว และวัฒนธรรม

พลังคนไทย สุขาสุขใจ
ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี

“6 เงื่อนไข” ขอรับห้องน้ำชุมชน

สำหรับเงื่อนไข ชุมชนต่าง ๆ ขอรับห้องน้ำชุมชน ในโครงการ “พลังคนไทย สุขาสุขใจ” มี 6 ข้อดังนี้

1.ชุมชนต้องมีพื้นที่ขนาด 5 เมตร X 10 เมตร สำหรับก่อสร้างห้องน้ำ พลังคนไทย สุขาสุขใจ

2.ชุมชนที่มีสถานที่ท่องเที่ยวและมีนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 500 – 1,000 คนต่อสัปดาห์

3.มีศักยภาพในการดูแล โดยมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการห้องน้ำชุมชนอย่างน้อย 5-7 ท่าน

4.มีศักยภาพในการดูแลและรักษาความสะอาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับประชาชนผู้ใช้บริการ

5.ขอสงวนสิทธิ์เฉพาะชุมชนมีพื้นที่สาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไป

6.เขียนแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของชุนชนตนเองที่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปความยาวไม่เกินหน้ากระดาษ A4

 

Avatar photo