CSR

บ้านปูฯ บ่มเพาะแนวคิด ‘พัฒนายั่งยืน’ แก่โรงเรียนในอุปถัมภ์

“บ้านปูฯ ไม่ได้เข้ามาดูแลโรงเรียนทั้ง 6 แห่งนี้ด้วยการบริจาคเงินก้อนหนึ่งแล้วจากไป เพราะวิธีนี้ไม่ช่วยให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจึงยึดเอาจุดแข็งของแต่ละโรงเรียน และความต้องการของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนเป็นตัวตั้ง แล้วสนับสนุนทักษะ ความรู้ หรือทรัพยากรที่จำเป็นให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้นำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชนได้ด้วยตนเองต่อไป”

SP 05

นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ตั้งแต่วันแรกที่ริเริ่มโครงการ “สนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Banpu Education for Sustainability หรือ BES) ในปี 2547 ด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาการศึกษา ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

จวบจนวันนี้โครงการดำเนินต่อเนื่องมานานถึง 15 ปีแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่มิตรภาพระหว่างบ้านปูฯ และโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง ในจังหวัดลำพูน ลำปาง และพะเยา อันเป็นพื้นที่ที่เราเคยดำเนินธุรกิจ จะแน่นแฟ้นขึ้นตามจำนวนปี และเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาแบบบูรณาการใน 3 ด้าน คือ

  • การพัฒนาโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนของชุมชน
  • การพัฒนาศักยภาพของครู
  • การพัฒนาระดับทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีความยั่งยืนต่อไป

CM 01

เมื่อต้นปี 2561 บ้านปูฯ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างกระบวนการคิด สู่การพัฒนาโรงเรียนอย่างยั่งยืน” แก่ครูตัวแทนจากทั้ง 6 โรงเรียน ซึ่งมุ่งกระตุ้นวิธีคิดและเสนอแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนการระดมความคิดเห็นร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียของโรงเรียน ได้แก่ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน แล้วกลั่นกรองเป็นโครงการพัฒนาโรงเรียนรูปแบบต่างๆ ที่มาจากความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายและเหมาะสมกับนโยบายของโรงเรียน จนท้ายที่สุดจึงนำมาดำเนินการในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา

แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ภาพความสำเร็จในการพัฒนาจึงแตกต่างกัน

CM 02 1

เริ่มจากแนวคิดของ โรงเรียนเชียงม่วนวิทยาคม จังหวัดพะเยา ที่ตระหนักถึงความสำคัญและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สู่การริเริ่มโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ  ต่อยอดจุดแข็งของโรงเรียนในเรื่องการติดตามดูแลนักเรียน ด้วยการนำแอพพลิเคชันมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนครู ในการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเป็นปัจจุบัน

โครงการนี้ไม่เพียงช่วยให้ครูมีเวลาดูแลนักเรียนได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเนื่องจากภาระงานเอกสารที่น้อยลง แต่ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างบ้านและโรงเรียนให้แคบลงด้วยการประมวลผลที่รวดเร็ว ทำให้ครูรับทราบประเด็นปัญหาและหารือกับผู้ปกครองเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

SP 02

ในอีกด้าน โรงเรียนสบปราบพิทยาคม จังหวัดลำปาง ซึ่งมุ่งเน้นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ได้นำจุดเด่นของโรงเรียนที่จัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) มายกระดับสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ผ่าน โครงการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมสู่การพัฒนาชุมชน ซึ่งเปิดรับนักเรียนจิตอาสา ลงพื้นที่สำรวจบ้านเก่าทรุดโทรมของชาวบ้านที่มีฐานะยากจนและต้องการความช่วยเหลือ

จนในที่สุด บ้านหลังเก่าได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมให้แข็งแรง มั่นคง และปลอดภัยด้วยฝีมือและทักษะงานช่างของนักเรียนสายอาชีพ โดยมีนักเรียนสายสามัญเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านงานเอกสาร บริหารงบประมาณ และสวัสดิการของทีมงาน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะนำทักษะความรู้ไปสร้างประโยชน์และพัฒนาชุมชนของตน พร้อมกับการมีจิตสาธารณะติดตัวไป

CM 03

จากการระดมความคิดเห็นร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำให้ โรงเรียนแม่ทะวิทยา จังหวัดลำปาง พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า นักเรียนร้อยละ 90 ต้องการพัฒนาตนเองในด้านการแสดงออกทางดนตรี นาฏศิลป์ และกีฬา จึงเป็นที่มาของโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพ เช่น การเล่นอังกะลุง เปตอง การละเล่นพื้นบ้าน รำไทยพื้นถิ่น และอีกหลายกิจกรรม โดยโรงเรียนได้จัดสรรเวลา และสถานที่ให้นักเรียนเรียน และฝึกซ้อมตามความสมัครใจ ส่งผลให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับกิจกรรมที่ตนชอบ และเลือกเอง มีความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น มีสุขภาพกายและใจที่เข้มแข็ง ควบคู่กับการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้ดำรงอยู่ต่อไป

WJD 01

ขณะเดียวกัน อีก 3 โรงเรียนที่เหลือเห็นพ้องกันว่า โครงการพัฒนาทักษะอาชีพ มีความสำคัญทั้งในการเสริมทักษะนอกหลักสูตร ปูเส้นทางสร้างอาชีพ สร้างประโยชน์ รวมทั้งรายได้ให้แก่นักเรียนและคนในชุมชน

สำหรับ โรงเรียนบ้านสระ จังหวัดพะเยา นอกจากฝึกสอนทักษะช่างเชื่อมแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ผ่านการฝึก ได้แสดงฝีมือปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่ชำรุด ให้กลับมาใช้งานได้ น้องที่อยู่ในชั้นอนุบาลจึงได้สนุกกับเครื่องเล่นอย่างเต็มที่ และปลอดภัย

WJD 03

ส่วน โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา จังหวัดลำพูน ซึ่งโดดเด่นด้านภาษาต่างประเทศเป็นทุนเดิม เลือกที่จะบ่มเพาะทักษะงานบริการในร้านอาหารตามมาตรฐานสากลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น นักเรียนจึงมีศักยภาพสูงขึ้นจากทักษะที่ได้รับจากการฝึกฝน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีเพื่อการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพในอนาคต

สุดท้าย โรงเรียนแม่ทะพัฒนศึกษา จังหวัดลำปาง มุ่งสร้างทักษะอาชีพแก่นักเรียนด้วยการผลิตสบู่สมุนไพรและขนม ควบคู่กับการสร้างเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์นักเรียน และเป็นสนามซ้อมให้แก่กลุ่มนักเรียนที่สนใจด้านการตลาดออนไลน์

MTP 03

ทั้งยังดำเนินโครงการพัฒนาครูให้เป็นผู้เรียนรู้มืออาชีพ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน จนเกิดเป็นแนวทางการสอนในโรงเรียนที่ต่อเนื่อง เป็นมืออาชีพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน และด้วยการพัฒนาที่มุ่งเน้นทั้งครูและนักเรียน ผลสำเร็จของโรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่ยอมรับในระดับจังหวัด โดยได้รับเชิญไปจัดแสดงผลงานในงาน “Show & Share SESA 35 2018 ทุกโรงเรียน “ดี” จึงนำของดีมาโชว์”

ทุกโครงการพัฒนาของทั้ง 6 โรงเรียนที่ดำเนินการในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา ล้วนสะท้อนมาจากปัญหา และเป้าหมายที่ตกผลึกจากความคิดเห็น และมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงไม่จำกัดอยู่เพียงภายในโรงเรียนหรือขอบเขตของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่านั้น แต่ยังสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในชุมชนอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

MTP 04

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส–องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้ายว่า  ความสำเร็จจากโครงการพัฒนาโรงเรียนของโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง อาจไม่ใหญ่โตเมื่อเทียบกับโครงการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทยในระดับประเทศ แต่บ้านปูฯ ก็มุ่งหวังว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั้ง 6 แห่งนี้ จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับการพัฒนาการศึกษาของไทย

สิ่งสำคัญคือ การที่โรงเรียน ครู นักเรียน และคนในชุมชน ได้เรียนรู้และกำหนดทิศทางการพัฒนาโรงเรียนและชุมชนของตนร่วมกันตามบริบทในท้องถิ่นและความต้องการของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เพื่อนำมาสู่การพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชนอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับความเชื่อของบ้านปูฯ ที่ว่า พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา

Avatar photo