COLUMNISTS

ความเครียดในงาน : งานแบบไหนทำให้พนักงาน ‘เครียด’

Avatar photo
ที่ปรึกษาบริหารโครงการ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
4209

งานหนักไม่เคยทำให้ใครตายจริงหรือไม่

ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า KAROSHI นั้น มีความหมายว่า  “death by overwork” หรือ “ทำงานหนักจนตาย”  โดยในปี 2558 รายงานของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ระบุถึงอัตราการตายโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการทำงานหนักจนเกินไป สูงถึง 2,310 คนต่อปี ซึ่งใน National Defense Council for Victims of Karoshi ได้เสริมต่ออีกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 10,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เทียบเท่ากับการเสียชีวิตโดยรถยนต์

57f90ebbc461884d558b4690

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หัวข้อ “ความเครียดในงาน” ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเองก็ตาม มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับความเครียดในองค์กร และได้ผลการศึกษา ที่แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าความเครียดในงานนั้น มีผลกระทบต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กรอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม อีกทั้งความเครียดในงาน ยังทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวเลยทีเดียว

ในโลกของการทำงานที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เราทุกคนเองก็เป็นเหมือนตัวละคร ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเนื้องานที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ยุ่งยาก และบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นใจ

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในการทำงานได้ทั้งสิ้น อย่างที่เห็นได้ทั่วไปตามข่าวหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมาย ที่เหล่าพนักงานหรือผู้บริหารเป็นโรคหรือหัวใจวาย โดยสาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากความเครียดในงานนั่นเอง

รายงานของ American Psychological Association เมื่อปี 2561 ที่ได้ศึกษาความเครียดของประชากรทั่วไป รวมถึง Generation Z กล่าวถึงสาเหตุหลักของความเครียดของชาวอเมริกัน คืองานนั่นเอง โดยประชากรทั่วไปเห็นว่างานเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดถึง 64% และ Generation Z ยังเพิ่มไปอีกถึง 77%

ความเครียดในงานเกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง

มีคำถามมากมายที่ต้องการหาความเป็นไปได้ของอาชีพที่ก่อให้เกิดความเครียดมากที่สุด โดยความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อมโยงกันระหว่างอาชีพใดอาชีพหนึ่งนั้นไม่ได้มีความเป็นไปได้สูงนัก แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดในงานที่แท้จริงแล้วคือสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวคนทำงานนั่นเองที่เป็นปัจจัยหลัก

ในรายงานขององค์การอนามัยโลก ได้ระบุถึงสาเหตุหลักของความเครียดในงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ เนื้องาน (Work Content) และ สภาพแวดล้อมในงาน

เนื้องานที่ก่อให้เกิดความเครียด

  • เนื้องานที่มีความซ้ำซาก จำเจ ไม่น่าสนใจ หรือไม่มีค่า ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกตึงเครียด เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเนื้องานเดิมๆ เป็นระยะเวลานาน
  • ภาระงานที่มากเกินความสามารถในการจัดการงานของตัวบุคคล หรือในทางตรงกันข้าม ภาระงานที่น้อยเกินไปก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นเดียวกัน
  • ชั่วโมงในการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น หรือมีชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินไป รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่ไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน
  • พนักงานไม่มีอำนาจในการควบคุมงานของตนเอง หรือการไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในงานของตนเอง และรวมถึงอำนาจในการจัดการปริมาณ และเวลาในการทำงานนั่น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดความเครียดได้

busy 880800 960 720

สภาพแวดล้อมในงานที่ก่อให้เกิดความเครียด

  • งานที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาหรือไม่น่าภาคภูมิใจ
  • บทบาทของงานในองค์กรที่ไม่ชัดเจน หรือมีความขัดแย้งกันในงานนั่นเองจะทำให้ผู้ประกอบอาชีพมีความสับสน
  • ความสัมพันธ์ในที่ทำงานทั้งกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า หรือมีการกลั่นแกล้งและใช้ความรุนแรงในที่ทำงาน รวมถึงงานที่ไม่ได้พบปะกับผู้คนเลยก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน
  • วัฒนธรรมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ และหัวหน้างานที่ไม่เก่ง หรือความชัดเจนของทิศทางองค์กรก็ตาม ท้ายที่สุดสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดในงานก็คือ (5) ความขัดแย้งระหว่างงานกับความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือครอบครัวนั่นเอง

ในบทความนี้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเครียดในงานไปเบื้องต้นแล้ว แล้วผลกระทบของความเครียดเหล่านี้จะเป็นอย่างไร จะมีผลต่อบุคลลหรือองค์กรอย่างไร? สามารถติดตามได้ในตอนต่อไปค่ะ