5 โรคยอดฮิตวัยทำงาน 50+ So many people spend their health gaining wealth, and then have to spend their wealth to regain their health…
“อายุมากขึ้น โรคภัยจะเริ่มถามหา” ถือเป็นคำกล่าวที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้เลย ยกตัวอย่างแบบใกล้ตัวเลย ผู้เขียนเคยเดินออกกำลังกายแค่นี้ แล้วไม่เหนื่อย ไม่เมื่อย เดี๋ยวนี้เดินระยะเท่าเดิม ทำไม รู้สึกเหนื่อยจัง หรือ “ทำไมช่วงนี้ นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกบ่อยขึ้น” และที่เห็นชัด ๆ เป็นตัวเลข “ทำไม ผมออกกำลังกายบ่อยเหมือนเดิม ทำไม ไขมันในเลือดสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ 10 ปี ค่าคอเลสเตอรอลผม ปกติมาโดยตลอด”
เหล่านี้เป็นคำถามเคยเกิดขึ้นแน่นอนกับคนวัย 50+ (ที่มั่นใจ เพราะผู้เขียน ก็เจอเหมือนกันค่ะ) เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัย 50 ปี ร่างกายก็จะเสื่อมถอยลง ประกอบทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย แล้วยังมี “ความเครียด” สะสมที่เพิ่มขึ้นทุกวันโดยที่เราไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเสียด้วยสิ! วันนี้ ผู้เขียน ขอหยิบโรคที่พบบ่อยในวัย 50+ มาแชร์กัน ดังนี้ค่ะ
1. โรคหลอดเลือดตีบ (ภาวะไขมันในเลือดสูง)
ถือเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศเลยทีเดียว องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2562 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ และ หลอดเลือด ประมาณ 18.8 ล้านคน คิดเป็น 31% ของอัตราการตายทั่วโลก และแน่นอน สำหรับประเทศไทย จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ สูงขึ้นทุกปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ การมีภาวะความดันโลหิตสูง การมีภาวะไขมันในเลือดสูง (ผิดปกติ) ภาวะอ้วนลงพุง โดยภาวะไขมันในเลือดสูง มีอัตรามากถึง 83.2% และเป็นอัตราที่พุ่งทะยานสูงขึ้นทุกปี (โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง)
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านบางท่าน อาจจะอยู่ในภาวะไขมันในเลือดสูงได้ ด้วยอาการที่เกิดจากการตีบ หรืออุดตันของเส้นเลือดจากการสะสมของไขมัน คอเลสเตอรอล เป็นผลให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถนำเลือดไปจ่ายเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ อาการเฉียบพลันที่เกิดจากโรคนี้ คือ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก วูบแบบเฉียบพลัน หากถึงมือแพทย์ช้า อาจเป็นอัมพาตได้
2. โรคเบาหวาน
ถือเป็นโรคที่ติดอันดับท๊อปฮิตของประเทศเช่นกัน ด้วยโรคเบาหวาน มักเกิดขึ้นได้ง่ายกับคนที่นิยมทานอาหารประเภทแป้งมากเกินไป กรรมพันธุ์ก็มีส่วนด้วย รวมไปถึงผู้ที่มีความเครียด คิดเยอะ คิดมากอยู่ตลอดเวลา เพราะความเครียดนี่หล่ะ ทำให้ร่างกายเราหลั่งฮอร์โมนบางอย่างออกมา ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเมื่อน้ำตาลสูงขึ้นบ่อย ๆ เป็นประจำ จึงเกิดภาวะโรคเบาหวานเกิดขึ้น แนะนำให้ผู้บริหารตรวจสุขภาพประจำปี เพราะโรคเบาหวาน เริ่มแรกอาการแทบไม่มีอาการใด ๆ นอกจากจะอ่อนเพลีย สมองมึน (บางทีเราจะคิดไปเองว่า เป็นความเครียดสะสม) เพราะถ้าปล่อยให้เป็นโดยไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี อาจจะพ่วงตามมาอีกหลายโรคก็เป็นได้ ซึ่งเรียกว่า ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน นั่นเอง
3. โรคความดันโลหิตสูง
หยิบมาไว้ที่ลำดับ 3 เพราะถือเป็นโรคที่มาแรงไม่แพ้โรคเบาหวานเช่นกัน ด้วยต้นสาเหตุมาจากหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ความเครียด นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ และขาดการออกกำลังกาย เบื้องต้นจะเกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดบ่อยครั้ง ปัญหาเหล่านี้ล้วนมาจากตับและไตส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจล้มเหลว อีกด้วย ฉะนั้น หากรู้สึกว่าใจสั่นบ่อย ๆ เหนื่อยโดยไร้สาเหตุ หรือเพลียผิดปกติ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์
4. โรคริดสีดวงทวาร (Haemorrhoid)
ใครบอกว่า “ต้องท้องผูก ถึงจะเป็นริดสีดวง” เพื่อนผู้เขียนท่านหนึ่ง ขับถ่ายแบบดีเลิศทุกวัน ไม่เคยท้องผูก แต่เพิ่งไปผ่าตัดริดสีดวงมา (เป็นริดสีดวงทั้งภายนอกและภายใน) โรคริดสีดวง (Haemorroid) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำ บริเวณทวารหนักมีการโป่งพอง บวม ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันหลายอันหลายตำแหน่งก็ได้ และทราบหรือไม่ว่า วัยทำงาน 50 ปีอัพ เป็นกันร้อยละ 60 (เยอะมากค่ะ) และเพศหญิง เป็นมากกว่าเพศชาย โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร เช่น นั่งถ่ายอุจจาระนาน (เช่นเล่นมือถือไปด้วย เสร็จทุกราย) ถ่ายอุจจาระบ่อย เบ่งแรงขณะขับถ่าย น้ำหนักมาก ฯลฯ โดยจะมีอาการ เช่น ถ่ายเป็นเลือดสด อาจคลำได้ก้อนเนื้อในรูทวารหนัก เป็นต้น และแน่นอน เมื่อเป็นโรคริดสีดวงแล้ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่า จะรักษาแบบไหนดี เช่น รักษาโดยการผ่าตัด รักษาโดยการฉีดยาเข้าไปที่หัวริดสีดวง หรือ รักษาโดยการใช้เหน็บยา ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ใกล้ตัวมากเช่นกัน
5. โรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ถือเป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด (ปัจจุบัน เป็นโรคนี้กันเยอะมาก ๆ ค่ะ) และจะมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ โดยพบราว 70–80% ของผู้ที่มีสมองเสื่อม โรคนี้เป็นสาเหตุทำให้สมองฝ่อเร็วอย่างรวดเร็ว และมีปัญหาด้านการจดจำ การพูด ความคิด และการกระทำ รวมถึงอารมณ์ ผิดไปจากปกติอย่างเห็นได้ชัดเจน ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้แน่นอนว่าเกิดจากสิ่งใด โดยปกติ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม โดยอาศัยข้อมูลจากประวัติตั้งแต่เกิด ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ, ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด อันประกอบด้วยการเจาะเลือด, การเอ๊กซเรย์, การตรวจคลื่นสมอง, การเจาะกรวดน้ำไขสันหลัง เป็นต้น
ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาตัวยาต่าง ๆ มากมายในการรักษา แต่นั่นก็ยังไม่พบว่ายาตัวใด สามารถทำให้หายขาดได้ ฉะนั้น การรักษาจึงเป็นการมุ่งเน้นที่การักษาตามอาการที่เกิดขึ้นแบบประคับประคองกัน ที่สำคัญ ญาติของผู้ดูแล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีความสุข
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนวัย 50+ ควรทำ คือ ควรจะบริหาร “ความเครียด” โดยทำให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด (ความเครียดเป็นจิ๊กซอ ชิ้นสำคัญที่ทำให้สุขภาพแย่ลงในทุกด้าน) การพักผ่อนให้เพียงพอ วัยนี้แล้ว ต้อง “เลือก” รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่าลืม ออกกำลังกายบ้างนะคะ เน้นออกเป็นประจำ (ไม่ต้องหักโหม) พบกันใหม่ ฉบับหน้าค่ะ
(credit : www.thaitgri.org, www.healthline.co/healthlhigh-cholesterol, how to treat hemorrhoids, www.webmd.com, Thaiquote.org, www.i-kinn.com)
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ไขข้อสงสัย!! กินอาหารปิ้ง-ย่าง ‘ก่อมะเร็ง’ จริงหรือ?
- ‘เค็ม’ แค่ไหน ที่ ‘ไต’ รับไหว?
- รู้หรือไม่!! เลือกกินอาหารไฟเบอร์สูง ลดเบาหวานได้