COLUMNISTS

‘เค็ม’ แค่ไหน ที่ ‘ไต’ รับไหว?

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
608

สถิติโรคฮิตของคนไทยติดอันดับหนึ่งมาหลายปีซ้อน หนีไม่พ้น คือ โรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกันเยอะมากที่สุด ตามมาด้วย ไขมันในเลือดสูง ที่คนไทยเป็นกันเยอะเช่นกัน ด้วยพฤติกรรมของการทานอาหารฟาสฟู้ด อาหารจานด่วน ฯลฯ แม้เราจะเลือกทานอาหารที่ไม่หวานจัด หรือมีไขมันเยิ้ม แม้กระทั่งอาหารเค็มจัด ก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน อย่างที่มีคำกล่าว “กินเค็ม ระวังเป็นโรคไต” ประโยคนี้หลายคนมักใช้เตือนคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม ทราบหรือไม่ว่า คนไทย ป่วยด้วยโรคไต มากถึง 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คน ที่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไต และที่สำคัญมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15 -20 ต่อปี โรคไต ไม่ได้โจมตีแต่ผู้ที่นิยมทานรสเค็มเท่านั้น เพราะโรคนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้เช่นกัน ดังนั้น เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า

เค็ม 52652

ทำความรู้จัก “ไต”

ไต เป็นอวัยวะที่สำคัญมากกับร่างกาย ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นการดูแล ไต จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่ ไต จะได้คงสภาพการทำงานต่อไปได้ หาก ไต มีปัญหา จะทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียลดลง ทำให้เกิดอาการตัวบวม และในที่สุด จะเกิดอาการไตวาย หรือ ภาวะไตล้มเหลวได้

“ไต” ทำหน้าที่อะไร?

อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไตมีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็น กรด ด่าง ในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไต ทำงานผิดปกติ หรือ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดภาวะเลือดจาง และขาดวิตามินได้ โดยโรคร้ายนี้มีอยู่หลายชนิด เช่น กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง และ ไตวาย

ภาวะข้างเคียงจากโรคอื่น ทำให้เกิดโรค “ไต” ได้?

หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าเลี่ยงทานเค็ม จะรอดพ้นจากโรคไต เป็นแน่แท้ แต่ในความเป็นจริง ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น

  • จากพันธุกรรม โดยอาจเป็นมาตั้งแต่เกิด หรือ ค่อย ๆ แสดงอาการในภายหลัง
  • เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบต่อ ไต เช่น ความดันสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • การกินอาหารที่มีรสเค็ม รวมไปถึงรสหวานจัด หรือ เผ็ดจัด ด้วยเช่นกัน
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป (ในแต่ละวัน)
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • มีความเครียด

เค็ม เกลือ 52653

โซเดียมสูงเสี่ยงต่อโรค “ไต”

โซเดียม คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่ง ที่มีสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก อาจจะทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต เพราะปริมาณโซเดียม ที่มาก จะทำให้ไต ไม่สามารถขับโซเดียมออกไปจนเกิดการสะสมไว้ในเลือด เมื่อมีโซเดียมมาก ไต ก็จะยิ่งทำงานหนัก ผลที่ตามมาคือ ในหน่วยไต จะเกิดความดันสูงขึ้น จนเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และนำพาไปสู่ภาวะไตเสื่อมในที่สุด ดังนั้น ควรเลี่ยงอาหารที่โซเดียมสูง เช่น กลุ่มเครื่องปรุงรส ซอสพริม ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มสุกี้ , กลุ่มอาหารแปรรูป เช่น เบคอน แฮม ผักกาดดอง ผลไม้กระป๋อง และไข่เค็ม ฯลฯ

ปริมาณโซเดียมที่เราไม่ควรทานเกินในแต่ละวัน

  • คนปกติ ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม
  • หากเป็นผู้ป่วยความดันเลือดสูง ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 1,000 – 1,500 มิลลิกรัม
  • ผู้ป่วยโรคไตขั้นวิกฤต ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 500 มิลลิกรัม

ตัวอย่างปริมาณโซเดียม ในอาหารแต่ละชนิด

  • บะหมี่น้ำหมูแดง 1 ชาม 1,450 มิลลิกรัม
  • ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว 1 จาน 1,352 มิลลิกรัม
  • ปลาสลิดเค็ม 1 ตัว 1,288 มิลลิกรัม
  • ส้มตำอีสาน 1 จาน 1,006 มิลลิกรัม
  • ผัดผักบุ้งไฟแดง 1 จาน 894 มิลลิกรัม
  • ข้าวผัดไข่หมู 1 จาน 416 มิลลิกรัม

(และปริมาณของโซเดียมจะเพิ่มขึ้นอก หากเราปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ และเครื่องปรุงรสเค็ม อื่น ๆ เพิ่ม)

แล้วโรค “ไต” มีกี่ระยะ?

ได้ยินมาเยอะว่า เป็นโรคไต ระยะ 1 บ้าง ระยะ 2 บ้าง ทราบไหมค่ะว่า โรคไต มีกี่ระยะ และมีวิธีการรักษาในแต่ละระยะเป็นอย่างไร ?
การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง

  1. แบ่งระยะของโรคไต ตามสาเหตุ และตามโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคพันธุกรรม โรคที่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างทางกายวิภาคของไต
  2. แบ่งระยะตามระดับอัตราการกรองของไต หรือ eGFR (Estimate glomerular filtration rate)

เค็ม เกลือ 52654

โดยเราจะแบ่งโรคไตเรื้อรัง ออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 หรือค่า eGFR มากกว่า 90% เป็นระยะที่อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงต่ำ
  • ระยะที่ 2 หรือค่า eGFR อยู่ในช่วงระยะ 60-80% เป็นระยะที่เราจะเริ่มประเมินและชะลอการเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง
  • ระยะที่ 3 หรือค่า eGFR อยู่ในช่วงระยะ 30-60% เป็นระยะที่แพทย์จะเพิ่มการดูแลภาวะแทรกซ้อนของไต และต้องระวังในเรื่องของโรคหัวใจ ที่จะเป็นภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยโรคไต เสียชีวิตได้มาก
  • ระยะที่ 4 หรือค่า eGFR น้อยกว่า 30% เราจะต้องเริ่มคุยกันเรื่องการทำบำบัดทดแทนไต เพราะการฟอกไต ไม่ว่าจะฟอกด้วยเครื่องฟอกไตเทียม การฟอกไตทางหน้าท้อง หรือ การปลูกถ่ายไต
  • ระยะที่ 5 เมื่อค่า eGFR น้อยกว่า 15% แพทย์จะเริ่มการบำบัดทดแทนไต ตามที่ได้ปรึกษากนแล้วก่อนหน้านี้ โดยเริ่มการบำบัดทดแทนไต ในเวลาที่เหมาะสม

10 อาการโรคไต ระยะเริ่มต้น

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ในช่วงแรกอาจไม่แสดงอาการแต่อย่างใด โดยอาการมักจะปรากฏในช่วงระยะท้าย ๆ เนื่องจากได้รับความเสียหายไปมากแล้ว ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไต มักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปัสสาวะเป็นเลือด ปกติแล้วปัสสาวะ จะมีสีเหลืองอ่อน จนถึงสีเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มน้ำในขณะนั้น แต่ถ้าพบว่าปัสสาวะมีเลือดปน อาจจะเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
  • ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ผู้ที่ไตผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรัง ไต จะไม่สามารถดูดน้ำกลับเก็บในกระเพาะปัสสาวะได้ปกติ จึงทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • มีอาการบวมของหน้า และเท้า
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ
  • บางรายน้ำหนักลดลง แต่ผู้ป่วยบางรายตัวบวม น้ำหนักขึ้นได้
  • คลำพบก้อนเนื้อบริเวณไต
  • ผิวหนังจะซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้
  • ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้

หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด

blog102 01 e1643998239910

ความดันเลือดสูงเสี่ยงโรคไต

หลายคนอาจสงสัยว่า มันเกี่ยวกันด้วยหรือ ? ด้วยความดันเลือดสูง ทำให้หัวใจทำงานหนัก และในระยะยาวทำให้เส้นเลือดเสื่อมทั่วร่างกาย (อันตรายมาก) ได้แก่ โรคเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองและเส้นเลือดที่ไตเสื่อม ทำให้มีโปรตีนในเลือดรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งตรวจพบได้โดยการตรวจปัสสาวะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของไต ในระยะท้าย จะทำให้ไต เสื่อมลง ไตขับเกลือแร่และของเสียนลดลง สารเกลือแร่ ที่คั่งจะยิ่งทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นไปอีก และทำลายไตมากขึ้นเป็นวัฏจักร

การรักษาโรคไต

  • รักษาตามอาการ เช่นการกินยา และควบคุมความดันเลือดให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และเลี่ยงยาบางชนิด
  • รักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี

1. การฟอกเลือด เพื่อทำให้เลือดสะอดา โดยใช้ระยะเวฃา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
2. การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ
3. การปลูกถ่ายไต โดยการนำไต จากผู้บริจาคใส่เชิงกรานของผู้รับไต

ไต เป็นอวัยวะที่ต้องทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เราจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพ ไต ด้วยการลดเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง พร้อมอย่าลืมตรวจสุขภาพไต เพื่อเช็คการทำงานว่ายังปกติอยู่ เพราะหากปล่อยละเลยจนไตเสื่อม ก็อาจสายเกินกว่าจะกลับมาฟื้นฟูได้ทัน พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : Salt (Sodium) and your kidney fact sheet, www.kidney.org.au, Can kidney patients eat salt, www.actionsalt.org.uk, www.princsuvarnabhumi.com, www.sikarin.com/health.com, www.i-kinn.com,

อ่านข่าวเพิ่มเติม