COLUMNISTS

ดับไฟต้องใช้น้ำ

Avatar photo
วีระพันธ์ โตมีบุญ อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ดับไฟต้องใช้น้ำ

ทฤษฎีและวิธีดับไฟป่า ที่หน่วยต่างๆใช้ ส่วนใหญ่เน้นทำแนวกันไฟ หรือจุดไฟดัก จะวิ่งรถดับเพลิงไปฉีดน้ำเหมือนในเมืองไม่ได้ เพราะไม่มีถนนและแหล่งน้ำ

ดับไฟ

แต่ราษฎรชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านดอยช้างป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งมีกัน 76 ครัวเรือน 270 คน อยู่จริงแค่ครึ่ง อีกครึ่งไปเรียนหนังสือ ไปทำงานในเมือง  แต่พวกเขาก็ใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมา รู้จักป่าว่าตรงนี้คือแหล่งต้นน้ำชั้นดีที่ต้องรักษา จึงมีวิถีปฏิบัติจัดการไฟป่าที่แตกต่าง ตรงข้ามกับหน่วยงานทั้งหลายโดยสิ้นเชิง

ปี2559 ชาวชุมชน  ขนถังน้ำขนาด 200ลิตร ขึ้นไปตั้งบนดอยที่สูงเหนือระดับทะเลปานกลาง1,400 เมตร ต่อท่อระบบฉีดพ่นสปริงเกอร์ สร้างความชุ่มชื้น ป้องกันไฟป่า ทำแล้วเห็นผลดี ก็เพิ่มเรื่อยๆ จนได้ 500 ใบ ขุดบ่อน้ำอีก 6 จุด ใหญ่สุด กว้าง12×14 ลึก 1.7 เมตร จุน้ำ 400,000 ลิตร รวมกับถังที่ตั้งไว้แล้ว มีถึง 650,000 ลิตร

ดับไฟ

บ่อทำไว้รองน้ำเวลาหน้าฝน

วิธีขนถังน้ำหรืออุปกรณ์ที่ใช้ บางช่วงก็ใช้มอเตอร์ไซค์ สุดทางตรงไหนก็แบกหามไปซี.. รอไร

ทำแนวกันไฟรอบแนวเขา ยาว 30 กม.ด้วยแรงคน

ชุมชนที่พวกเขาอยู่รู้ภัย ระวังไม่เผาสุ่มสี่สุ่มห้า แต่จุดที่ตั้งเหมือนเป็นไข่แดง ไฟป่าลุกลามโดยรอบ ต้องหาวิธีป้องกัน

หลักคิดพวกเขา มีความชุ่มชื้น ก็ยั้งไฟได้ระดับหนึ่ง สปริงเกอร์ฉีดน้ำเป็นฝอยละอองช่วยตรงนี้ แนวกันไฟ จะเป็นกองหน้าดักอัคคึภัยที่รุกเข้ามา

ในจุดที่ลุกไหม้ จนถึงไม้ยืนต้น พวกเขาจะตักน้ำราดรดจนดับสนิท ไม่ให้เหลือควันเพราะอาจเป็นเชื้อหลงเหลือรอปะทุลุกโพลง

ดับไฟ

บัญชา มุแฮ หรือ ดีปูนุ หัวแรงสำคัญของชุมชนบอกว่า งานทุกชิ้นสำเร็จด้วยการร่วมแรง งบประมาณค่าวัสดุอุปกรณ์ ได้สนับสนุนจากเครือข่ายเพื่อนๆภาคประชาชนฯ นักเรียน คนทำงาน ที่กลับมาบ้านจะช่วยกันโดยไม่เกี่ยงงอน ช่วงวิกฤตโควิด19 กลายเป็นโอกาส มีแรงงานมาช่วยขุดบ่อขนาดใหญ่ และแม้จะทำกันเองแบบบ้าน แต่องค์กรที่สนใจงานสิ่งแวดล้อมก็รับรู้ จนได้รางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน

ถือเป็นงานวิจัยภาคสนามชิ้นใหญ่ที่หน่วยสู้ไฟป่าจะยอมรับว่า วิธีและทฤษฎี ที่ใช้อยู่ ไม่เวิร์กและพิจารณาแนวทางของดอยช้างป่าแป๋ไปประยุกต์เป็นทางเลือก

ให้ไฟป่าสงบราบคาบกันเสียที

This slideshow requires JavaScript.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่