Economics

‘ดร.นฤมล’ แนะ ‘ร่วมทุนเอกชน’ แก้หนี้เกษตรกรยั่งยืน อย่าใช้แค่นโยบาย ‘พักหนี้’ เพื่อหาเสียง

“ดร.นฤมล” ชี้ “หนี้เสียธ.ก.ส.” สะท้อนเกษตรกรเสี่ยงสูง แนะตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างเกษตรกร กับเอกชน แก้ปัญหาแบบยั่งยืน อย่าใช้วิธี “พักหนี้” เพื่อหาเสียง บนความทุกข์ของเกษตรกร

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวถึงตัวเลขอัตราหนี้เสียของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระบุว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2563 เป็น 6.63% ในปี 2564

S 41926703

ถ้าย้อนไปดูคำชี้แจงของผู้บริหารเมื่อสิ้นปีบัญชี 2564 ก็ระบุว่าในปีบัญชี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะบริหารจัดการให้หนี้เสีย ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.5% ของสินเชื่อรวม

แต่ล่าสุด เพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2565 หนี้เสียต่อสินเชื่อรวมพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 12.5% และผู้บริหารธนาคารยังคาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 (31 มีนาคม 2566) สัดส่วนหนี้เสียจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 7% ไม่ใช่ 4.5% อย่างที่ตั้งเป้าไว้แต่เดิมแล้ว

คำชี้แจงของตัวเลขหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น จากผู้บริหารธนาคารยังคล้ายเดิม เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูง กระทบรายได้ของเกษตรกร ปัญหาภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมในช่วงกลางปี และเกษตรกรยังมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

จากคำชี้แจงทำนองนี้ ย้ำให้เห็นชัดเจนว่า เกษตรกรไทย ยังต้องรับความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะความเสี่ยงจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความผันผวนของราคาต้นทุนการผลิต

ในขณะที่ภาคเอกชน พ่อค้าคนกลาง และผู้ที่ได้ประโยชน์ร่วมในห่วงโซ่อุปทานตลาดสินค้าเกษตร กลับไม่ต้องร่วมแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้เลย รอรับซื้อผลผลิต ได้กำไรส่วนต่างเท่านั้น

เมื่อดูตัวเลขสินเชื่อสะสมของเกษตรกรเฉพาะที่ ธ.ก.ส. สูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทแล้ว หากมีเพียงรัฐบาล กับธนาคารของรัฐ ที่ดูแลปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกร หลังจากความเสี่ยงกลายเป็นความสูญเสียไปแล้ว เราก็จะต้องมาเห็นนโยบายหาเสียง “พักหนี้เกษตรกร” ทุกรอบ ที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรที่ต้นเหตุ แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากความทุกข์ของเกษตรกร อันเป็นปลายเหตุเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง

“เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ตราบใดที่โครงสร้างการกระจายความเสี่ยงในภาคการเกษตรยังไม่เป็นธรรม”

ทางที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน คือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนกับเกษตรกร เรียกว่า บริษัทผู้ผลิตร่วม ลงทุนร่วมกัน ฝ่ายหนึ่งลงเงินทุน อีกฝ่ายหนึ่งลงแรง รับความเสี่ยงร่วมกัน กำไรแบ่งกัน ขาดทุนก็รับผิดชอบร่วมกัน จะทำเกษตรอัจฉริยะ จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จะลดต้นทุน จึงจะขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo