Finance

‘นฤมล’ ย้ำ ‘กยศ.’ กับอนาคตของชาติ ต้องไม่วางรากฐานให้คนอยากผิดวินัย

“นฤมล” ชี้ ประเด็น “กยศ.” เรื่อง “ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ” ยังไม่สำคัญเท่า การสร้างจิตสำนึกให้อนาคตของชาติว่า “มีหนี้ ต้องจ่าย” ถ้าจ่ายไม่ได้ ผู้กู้และกองทุนต้องรู้ว่าเพราะอะไร และต้องหาทางแก้ไขร่วมกัน ย้ำ ต้องไม่วางรากฐานให้คนอยากผิดวินัย

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ สะท้อนมุมมองถึงที่มาของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 2539 ด้วยงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ดำเนินการในลักษณะเป็นทุนหมุนเวียน เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยไม่ได้แสวงหาผลกำไร

ต่อมาปี 2561 สามารถเป็นกองทุนหมุนเวียน ที่ไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน โดยกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนในปี 2564 กว่า 32,100 ล้านบาท

กยศ.

ที่ผ่านมา มีผู้กู้ยืมจนได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,284,005 ราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท โดยมีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้จำนวน 3,559,421 ราย ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น ปิดบัญชีแล้ว 1,660,129 ราย

สำหรับผู้กู้ยืมที่มีปัญหาในการชำระหนี้กองทุน ก็ได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนี้

  • ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับจากเดิม 12%-18% เหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจาก 1% เหลือเพียง 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและ ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
  • ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว
  • ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี
  • ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ให้ผู้กู้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี และมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน จากเดิมกำหนดผ่อนชำระเป็นรายปี ผ่อนไม่เกิน 15 ปี เป็นผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน ผ่อนไม่เกิน 30 ปี

จะเห็นได้ว่า การช่วยผู้กู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ ต้องเป็นแนวทางที่ตรงกับสาเหตุของปัญหา จึงจะแก้ปัญหาให้กับตัวบุคคล และตัวกองทุนได้ ในเมื่อทั้งเบี้ยปรับและดอกเบี้ย ได้ถูกลดมาต่ำมาก จนไม่ใช่สาเหตุของปัญหาแล้ว จำเป็นไหมที่จะต้องลดให้เหลือศูนย์

ทั้งนี้ กองทุนมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี มีรายรับจากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยราว 6,000 ล้านบาทต่อปี ตรงนี้ที่ทำให้สามารถเป็นกองทุนหมุนเวียน โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนสูงไปไหมเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา หากเห็นว่า ที่ผ่านมา รายรับส่วนนี้ สูงไปกว่าค่าใช้จ่าย ก็ไปหาแนวทางลดลงให้คงเหลือเท่าที่จำเป็นสำหรับให้กองทุนพึ่งตัวเองได้

กยศ.

นอกเหนือจากประเด็นของการสนับสนุนให้ กยศ. ยังคงความเป็นกองทุนหมุนเวียนได้ โดยไม่ต้องพึ่งหางบประมาณแผ่นดิน หาก กยศ.ต้องกลับมาพึ่งงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก็คือภาษีจากประชาชน สิ่งที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ คือ การสร้างวินัยทางการเงินของนักศึกษาที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ….ยังเหลือขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ที่คนส่วนมากยังสนใจตรงแค่ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จะเป็นเท่าไร ทั้งที่ประเด็นนี้ ยังไม่สำคัญเท่ากลไกการบริหารจัดการของกองทุน และสถาบันการศึกษา รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ต้องร่วมกันส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้อนาคตของชาติไทยว่า “มีหนี้ ต้องจ่าย ถ้าจ่ายไม่ได้ ผู้กู้และกองทุนต้องรู้ว่าเพราะอะไร และต้องหาทางแก้ไขร่วมกัน”

นโยบายใดก็ดีที่ออกมา ต้องไม่สร้างอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard) ที่เอื้อให้คนอยากผิดวินัย ตรงนี้สำคัญที่สุดที่อยากจะฝากวุฒิสภา และพวกเราทุกคนให้คำนึงถึง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo