Economics

‘นฤมล’ แนะ เกาะติด ‘ดอกเบี้ย’ สหรัฐ-ญี่ปุ่น ชี้ ‘เศรษฐกิจโลก’ เสี่ยงถดถอย หนุนไทยทยอยขยับ

“นฤมล” เกาะติดแนวโน้มดอกเบี้ย “สหรัฐ-ญี่ปุ่น” เชื่อ “เฟด” ปรับสูงขึ้น แต่ “บีโอเจ” ยังรักษาไว้ในระดับต่ำ หนุน “กนง.” ค่อย ๆ  ปรับขึ้น แต่เตือน ต้องระวังความเสี่ยง จากเศรษฐกิจโลกถดถอย

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์  สะท้อนมุมมองถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของโลก โดยระบุให้จับตาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ 2 ประเทศ คือ สหรัฐ และ ญี่ปุ่น ในสัปดาห์นี้

ดอกเบี้ย

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะประชุมวันพุธที่ 21 กันยายนนี้ คาดกันว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ด้วยความน่าจะเป็นสูงถึง 82% เพื่อเป็นมาตรการแรง ที่เฟดประกาศ และตั้งใจจะจัดการกับเงินเฟ้อให้ได้

แต่ก็ต้องแลกด้วยความถดถอยทางเศรษฐกิจ ทั้งในสหรัฐเอง และเศรษฐกิจโลก ที่ย่อมได้รับผลกระทบ

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะประชุม 2 วันในสัปดาห์นี้ โดยจะประชุมเสร็จในวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน แต่คาดว่า น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ถึงแม้จะมีแรงกดดันหลายมิติ

การขึ้นดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ นอกจากจะส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าแล้ว ยังส่งผลให้อัตราผลตอบตราสารหนี้ในตลาดสูงขึ้น จนอาจจะชนเพดานสูงสุดที่บีโอเจ กำหนดไว้

นอกจากนั้น การอ่อนค่าของเงินเยน ยังส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังยึดมั่นนโยบายไม่ขึ้นดอกเบี้ยมาโดยตลอด คือ ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

แม้บีโอเจยังคงไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววของการที่จะเสี่ยงใช้วิธีแทรกแซงค่าเงินเยนโดยตรง ค่าเงินเยนล่าสุดตกลงไปอยู่ที่ 144 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี ถ้าอ่อนต่อเนื่องไปจนหลุด 150 เยนต่อดอลลาร์ อาจจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนมาตรการของบีโอเจ

ดอกเบี้ย

หันมามองของไทยบ้าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) เดินทางสายกลาง มาถูกทางแล้ว ขึ้นดอกเบี้ยไม่มากไป และค่อย ๆ ขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว

แต่สิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมรับผลกระทบ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จากการขึ้นดอกเบี้ยในหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลจึงต้องเร่งดูแลกำลังซื้อภายในประเทศ ของทั้งภาคเอกชน และภาคครัวเรือน เพื่อประคองสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ให้เชิดหัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความไม่ปกติของเศรษฐกิจโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo