Economics

‘กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ’ เชิญชวน ‘เอกชนไทย-ต่างชาติ’ ยื่นขอสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” ออกประกาศเชิญชวน เปิดทางเอกชนทั้งในและต่างประเท ยื่นขอสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 เสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และกำกับดูแลการดำเนินงานให้โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

หลังจากที่กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 บริเวณทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับแนวท่อก๊าซที่มีอยู่เดิม และอยู่ใกล้กับพื้นที่ผลิตหลัก ที่ปัจจุบันผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่อไปได้นั้น

shutterstock 1356042950

วันนี้ (7 มิ.ย.) ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินการ ได้เปิดกว้างให้เอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว เพื่อร่วมกันดำเนินงาน พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพของไทย ให้สามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ท่ามกลางวิกฤติด้านพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประชาสัมพันธ์ประกาศเชิญชวนดังกล่าว ไปยังบริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมภายในประเทศ และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย  รวมทั้งขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ประกาศไปยังสถานทูตไทยในประเทศต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่สนใจให้เข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพิ่มโอกาสการลงทุน และพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์ รองรับความผันผวนด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานในขณะนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพร้อมให้บริการห้องศึกษาข้อมูล สำหรับผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65, G2/65 และ G3/65 เพื่อสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้บริษัทผู้ที่สนใจยื่นขอสิทธิ นำไปใช้ประกอบการศึกษาศักยภาพปิโตรเลียม ในการกำหนดโครงการสำรวจปิโตรเลียม และจัดทำรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยาสำหรับแปลงสำรวจที่จะยื่นขอ พร้อมแสดงให้เห็นศักยภาพโดยรวมของทั้ง 3 แปลงสำรวจ

สราวุธ ๒๑๑๐๑๔

เงื่อนไขการดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต มีระยะเวลาสำรวจ 6 ปี ต่อเวลาได้อีก 3 ปี ส่วนระยะเวลาผลิต กำหนด 20 ปี โดยคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้

เป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องไม่เป็นบริษัทที่ทิ้งสัมปทาน หรือ ถูกเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย หรือมีรายชื่อบุคคล หรือนิติบุคคล ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม อยู่ในรายชื่อผู้ทิ้งสัมปทาน

มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอในการสำรวจ ผลิต ขายและจำหน่ายปิโตรเลียม เช่น มีมูลค่าการถือครองหุ้นในกิจการ หรือมีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท หรือมีความสัมพันธ์กับบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือ

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 5-16 กันยายนนี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคำขอสิทธิ ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายและร่างสัมปทานปิโตรเลียม คณะกรรมการปิโตรเลียม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามลำดับ

A68DC63B 9493 42B2 A621 4EF882C16F3A

การเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว ถือเป็นโอกาสดีที่จะเปิดโอกาสของประเทศในการต้อนรับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ ที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท จากกิจกรรมการสำรวจปิโตรเลียม

หากมีการค้นพบปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ ก็จะเกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังเกิดประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ที่ยังมีศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เพื่อให้สามารถยืนด้วยขาตัวเอง

ประโยชน์ที่ตามมาไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านพลังงาน แต่หมายถึงความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน สร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศพ้นภาวะวิกฤติไปได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo