Economics

‘ศาลปกครองสูงสุด’ ยืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับคำฟ้อง ‘รฟท.’ ขอถอน ‘โฮปเวลล์’ จดทะเบียนในไทย

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คดี “รฟท.” ฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

วันนี้ (30 พ.ค.) ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

ศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า เนื่องจาก รฟท.ได้ทำสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร โดยบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ ต่อมาได้เกิดข้อพิพาทกัน จนมีการนำเรื่องเข้าสู่การชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และมีการนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง จนศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว

shutterstock 175824197

ต่อมา รฟท.ตรวจพบว่า การที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 อนุมัติตามเงื่อนไขที่บริษัทโฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด เสนอเพียง 2 ข้อคือให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน และให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาเรื่องการขอยกเว้นการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

อีกทั้งเป็นการอนุมัติให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด มิได้เป็นการอนุมัติให้แก่บริษัท โฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลแต่อย่างใด และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้น จึงต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนนิติบุคคลต่างด้าว จึงได้ทำหนังสือให้ผู้ถูกฟ้องคดี และอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้ถูกฟัองคดีจึงได้มาฟ้องกับศาลปกครองชั้นต้น

ทั้งนี้ การฟ้องคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยหากจะเป็นประโยชน์ก็มีแก่เฉพาะรฟท.เอง อีกทั้งไม่มีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ทำให้ต้องฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว และเมื่อวินิจฉัย่เช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อกล่าวอ้างอื่นของรฟท.ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบนความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo