Economics

สบน. ยัน! ระดับหนี้สาธารณะ ไม่ทำให้ไทย เสี่ยง ‘ล้มละลาย’

สบน. ยัน! ระดับหนี้สาธารณะ ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสี่ยง ‘ล้มละลาย’ ยังมีความสามารถชำระหนี้ ส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ ยังต่ำกว่ามาตรฐาน

จากการที่มีการเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ ในประเด็นการกู้เงินของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย การชำระคืนหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงล้มละลายนั้น

ล้มละลาย
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นดังกล่าว ดังนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว เพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้สนับสนุนโครงการลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ผ่านการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2558 – 2564 รัฐบาลมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 178 โครงการ วงเงินกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทุกสาขาทั้งด้านคมนาคม สาธารณูปการ พลังงาน สังคม และการพัฒนาพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และรัฐบาลมีแผนที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ(แผนฯ) ระยะปานกลาง ในช่วง 5 ปี (ปี 2565 – 2569) เพื่อรองรับทิศทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวในอนาคต วงเงินประมาณ 840,000 ล้านบาท

ล้มละลาย

จัดทำแผนบริหารหนี้อย่างเคร่งครัด ภายใต้กฎหมายวินัยการเงินการคลัง 

ในแต่ละปี สบน. ได้จัดทำแผนฯ ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่เพื่อการลงทุนและบริหารสภาพคล่อง  การบริหารหนี้คงค้างเดิมเพื่อบริหารความเสี่ยง และการชำระหนี้จากงบประมาณและเงินแหล่งอื่น ซึ่งแผนฯ เป็นการดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium Term Debt Strategy) โดยพิจารณาความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการปรับโครงสร้างหนี้

อีกทั้ง ยังต้องจัดทำภายใต้กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะอย่างเคร่งครัด โดยแผนฯ ต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีต่อไป

ล้มละลาย

กู้เงินในประเทศเป็นหลัก แถมดอกเบี้ยคงที่ จึงมีความเสี่ยงต่ำ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน 

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ในการกู้เงินแต่ละครั้ง สบน. ได้พิจารณาต้นทุนการระดมทุน วงเงินกู้ รวมถึงประเภทของตราสารหนี้ที่จะออก โดยใช้เครื่องมือการกู้เงินที่หลากหลาย และพิจารณาช่วงเวลาการกู้ ให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน (Crowding Out Effect) ในประเทศ ป้องกันไม่ให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวน ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม และไม่กระทบต่อความเสี่ยง ในการปรับโครงสร้างหนี้ในอนาคต

โดยที่ผ่านมา สบน. กู้เงินในประเทศเป็นหลักประมาณร้อยละ 98 จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแต่ละปีต่ำ นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 83 เป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ จึงทำให้มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยที่เหมาะสม ที่ร้อยละ 2.35 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่ปกตินับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว ผ่านการดำเนินนโยบายการคลัง จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) โดยการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อให้สามารถรองรับกรณีการกู้เงินเพิ่มเติม สำหรับดำเนินนโยบายการคลังและแผนพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต

ล้มละลาย

ย้ำ ระดับหนี้สาธารณะปัจจุบัน ไม่เสี่ยงล้มละลาย 

อย่างไรก็ดี หากในอนาคตสถานการณ์เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ รัฐบาลสามารถทบทวนความเหมาะสมของเพดานหนี้สาธารณะ ได้ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันยัง ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) โดย สบน. ได้ติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อรายได้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 และในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงต่ำกว่าระดับเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10

การชำระหนี้ในแต่ละปี กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับจัดสรรงบชำระหนี้ เพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. วินัยฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้อย่างพอเพียง โดยกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ที่ร้อยละ 2.5-4.0 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และชำระดอกเบี้ยตามที่เกิดขึ้นจริงอย่างครบถ้วน

และ สบน. ไม่ได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาชำระหนี้แต่อย่างใด สำหรับหนี้คงค้างที่เหลือ สบน. จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อกระจายการชำระหนี้และลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพิจารณาต้นทุนและความเสี่ยงเป็นสำคัญ

ล้มละลาย

ไทยยังมีความน่าเชื่อถือ ในระดับ BBB+

นอกจากนี้ บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 โดยเชื่อมั่นว่า แม้หนี้รัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น แต่ตัวชี้วัดภาคการคลังและหนี้สาธารณะยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับความแข็งแกร่งดังกล่าวได้ต่อไป

อีกทั้งคาดว่า ช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้ลดลง

นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาก ประกอบกับเงินออมภายในประเทศมีจำนวนมาก จะทำให้ต้นทุนการกู้เงินต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยยังคงความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง (High Debt Affordability)

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า สบน. ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและดำเนินมาตรการทางการคลัง ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วน ตามกรอบวินัยทางการคลัง ซึ่งส่งผลให้ระดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีและน่าลงทุน (Investment Grade)

นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เชื่อมั่นความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองด้านความมีเสถียรภาพและความโปร่งใส ของฐานะการเงินการคลังของประเทศ  และไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo