Economics

น้ำมันแพง! ดันเงินเฟ้อเดือน มี.ค. พุ่ง 5.73% สูงสุดรอบ 13 ปี

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำราคาน้ำมันพุ่ง ดันอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2565 ขยับสูงขึ้นอยู่ที่ 5.73% สูงสุดรอบ 13 ปี พร้อมปรับประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีเป็น 4-5% จากเดิมอยู่ที่ 0.7-2.4%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 104.79 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.73% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากสินค้าและบริการในประเทศปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบที่นำเข้า และค่าขนส่ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐและพันธมิตร ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบที่รุนแรง เพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจมีความเปราะบาง

เงินเฟ้อเดือนมีนาคม

เงินเฟ้อเดือนมีนาคมพุ่ง

สำหรับสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วไม่มาก ขณะที่ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เทียบกับเดือนที่ผ่านมา สูงขึ้นเพียง 0.66% (MoM) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยสินค้าบางรายการราคาปรับลดลง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 5.73% ยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95% ซึ่งเป็นไปตามราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด เครื่องประกอบอาหาร และอาหารปรุงสำเร็จ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ รวมทั้งฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น

เงินเฟ้อเดือนมีนาคม

ราคาเชื้อเพลิงพุ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการ อาทิ ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้น 0.66% เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (เดือนก่อนหน้าสูงขึ้น 1.06%) จากการสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ นอกจากนี้ เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ข้าวสาร และนมและผลิตภัณฑ์นม รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล ราคาปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 4.75% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าสูงขึ้น 1.91% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้น 11.4% ตามต้นทุนการผลิต และราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี) รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรสำคัญ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เงินเฟ้อเดือนมีนาคม

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 8.6%

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 8.6% เป็นการสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้าง (น้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน อะลูมิเนียม) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.8 จากระดับ 44.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐทยอยออกมาเพิ่มเติม และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ มีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2565 เป็นระหว่าง 4.0-5.0% (ค่ากลางที่ 4.5%) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม 2564 ระหว่าง 0.7-2.4% (ค่ากลางที่ร้อยละ 1.5) โดยสมมติฐานจากราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 90-110 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาท/ดอลลาร์ และจีดีพีของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5-4.5%

เงินเฟ้อเดือนมีนาคม

อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในรอบ 13 ปี

แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง โดยยังเชื่อว่า หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 4-5% ถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในรอบ 13 ปี และมองว่าไม่ควรที่จะออกมาตรการแทรกแซงเงินเฟ้อให้ต่ำลง เพราะถือเป็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ รวมทั้งมาตรการของภาครัฐ ทั้งการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo