Economics

‘พิก บอร์ด’ เปิดต้นทุนอาหารหมูปี 64 เพิ่มขึ้น 8% ไตรมาสแรก 65 สูงต่อเนื่อง

“พิก บอร์ด” ประเมินค่าต้นทุน “อาหารหมู” ปี 2564 เพิ่มขึ้นจากก่อนร่วม 8% ทำให้ต้นทุนทั้งหมดในการผลิตสุกรสูงขึ้น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย คาด ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไตรมาสแรกปีนี้ จะยังสูงอยู่เนื่องจากผลผลิตน้อย และจีนเร่งซื้อก่อนปิดตรุษจีน

วันนี้ (7 ม.ค.) คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ พิก บอร์ด (Pig Board) คำนวณต้นทุนการผลิตสุกรรายเดือน โดยแบ่งเป็น ค่าพันธุ์ ค่าอาหาร และอื่น ๆ ซึ่งปรากฏว่า ค่าอาหารสัตว์ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 พบว่า ปี 2564 ต้นทุนค่าอาหารสัตว์สูงกว่าเฉลี่ย 8% ทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตสุกรสูงขึ้น

shutterstock 1386791324

สำหรับในเดือนธันวาคม 2564 ต้นทุนการผลิตสุกร กรณีซื้อลูกสุกรมาขุนให้ได้น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ใช้เวลา 4 เดือน ประกอบด้วย ค่าพันธุ์ 2,621.17 บาท ค่าอาหาร 3,833.40 บาท และอื่นๆ 843.42 บาท รวมต้นทุนการผลิต 7,297.99 บาทต่อตัว

ค่าอาหารสุกร ที่คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกรคำนวณ ซึ่งเฉลี่ย 3,300 บาทต่อตัว แตกต่างจากที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรร้องว่า ปรับสูงขึ้นถึง 6,000 บาทต่อตัว ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันตรวจสอบ และประเมินให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด เพื่อใช้ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับต้นทุน แล้วเร่งพัฒนาการเลี้ยงแบบลดต้นทุนทั้งระบบต่อไป

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย คาดการณ์ว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไตรมาสแรกของปี 2565 จะยังพุ่งสูงขึ้นอีก จากข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาสูงขึ้น 11.58% กากถั่วเหลือง 27.90% มันสำปะหลัง 8.41% ข้าวสาลี 20.73% และข้าวบาร์เลย์ 8.69%

สำหรับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดชิคาโกปี 2564 สูงขึ้นกว่าปี 2563 ถึง 26.87%

สาเหตุที่คาดว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไตรมาสแรกของปี 2565 จะพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าสู่ปลายฤดูการผลิต และผลผลิตจะมีน้อย ราคากากถั่วเหลืองปรับขึ้น เพราะจีนเร่งซื้อก่อนปิดตรุษจีน โดยมีปัจจัยเสริมคือ ค่าเงินบาทอ่อนตัว ค่าระวางขนส่ง ราคาน้ำมัน และค่าจัดการปรับสูงขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo