Business

กางแผนแก้หมูแพง หยุดส่งออก เร่งปั้นปศุสัตว์ Sandbox หนุนผู้เลี้ยงรายย่อย

กระทรวงเกษตร เร่งหารือมาตรการแก้หมูแพง หยุดส่งออกในระยะสั้น สนับสนุนการเลี้ยงสุกรในกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อย ปั้น “ปศุสัตว์ Sandbox” สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศ

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อสุกรในประเทศปรับสูงขึ้น ว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรภายในประเทศปี 2563-2564 มีผู้ประกอบการรวม 190,000 ราย สามารถผลิตสุกรประมาณ 20 ล้านตัว/ปี ประมาณ 10,000 ราย

แก้หมูแพง

ทั้งนี้ แบ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ มีปริมาณสุกรมากกว่า 10 ล้านตัว และอีก 180,000 ราย เป็นเลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อ

เมื่อปี 2563-2564 ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ เกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง

ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง

นอกจากนี้ การที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุม ยับยั้งการระบาดของโรคในสุกรได้อย่างดีเยี่ยมในปี 2564 ส่งผลให้สุกรไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาเนื้อหมูสดภายในประเทศปรับราคาสูงขึ้น

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรภายในประเทศ จึงได้สั่งการมายังกระทรวงเกษตรฯ ให้เร่งติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ อย่างเร่งด่วนทั้งในระยะสั้น และในระยะกลาง – ยาว

ประภัตร โพธสุธน
ประภัตร โพธสุธน

สำหรับแผนงานในระยะสั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะหยุดการส่งออกสุกรในทันที เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ

ส่วนในระยะกลาง -ยาวนั้น กรมปศุสัตว์ จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง

พร้อมกันนี้ จะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้  โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ โดยคาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง4 ล้านตัน/ต่อปี

ขณะเดียวกัน  ยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เร่งเตรียมการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีความเสี่ยงจากโรคระบาด เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ในการผลักดัน ปศุสัตว์ Sandbox หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต–ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ตามโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยด่วน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo