“ผู้เลี้ยงหมู” ขอบคุณนายกฯ เข้าใจ “ราคาหมูแพง” เป็นไปตามกลไกตลาด แนะรัฐลดภาษีนำเข้า “กากถั่วเหลือง” วัตถุดิบอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต จูงใจให้คนกลับมาเลี้ยงหมูมากขึ้น
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายก สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เกษตรกรทุกคนขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่รับทราบความเดือดร้อนของเกษตรกร และภาคผู้บริโภค โดยมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ว่า ราคาสุกร และเนื้อสุกร เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อปริมาณสินค้ามีน้อย สวนทางกับความต้องการที่มากขึ้น ราคาย่อมปรับสูงขึ้น
โดยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดูแลแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ทั้งเรื่องภาระเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พ่อค้าคนกลาง ผู้ขายสุกรหน้าเขียง ผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อลดผลกระทบต่อทั้งเกษตรกร และประชาชน โดยไม่ให้เสียกลไกตลาด
“เกษตรกรทุกคนขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่เข้าใจในกลไกตลาดอย่างแท้จริง ในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยง ท่านนายกฯ มอบหมายให้คณะกรรมการ Pig Board เร่งหาแนวทางช่วยเหลือ ด้านต้นทุนการผลิต สนับสนุนการพัฒนาวัคซีน เพื่อลดความเสียหายจากโรคในสุกร และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เลี้ยงกลับมาเพิ่มปริมาณสุกรเข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุด”
สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคในหมูนั้น นอกจากกรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงาน ที่ดูแลเกษตรกรแล้ว ควรจะเปิดกว้างให้กับสถาบันการศึกษา หรือภาคบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมพัฒนา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งภาคส่วนนี้ถือว่ามีความพร้อมและมีความสามารถ
ส่วนการสนับสนุนสินเชื่อแก่ภาคเกษตรนั้น ภาครัฐควรพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ทั้งในด้านสวัสดิการของเกษตรกร สินค้าเกษตร และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทางการเกษตร ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ดังเช่นในที่อดีตธนาคารเคยกำหนดการปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกร
การปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน จะทำให้ราคาสุกรปรับเข้าสู่สมดุลได้เอง ถือเป็นการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และอาชีพของเกษตรกรที่เข้าถึงหัวใจของปัญหาอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ควรลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลือง เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงหมูได้บ้าง จึงขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด
ปัจจุบันสถานการณ์ราคาสุกร และ เนื้อสุกรปรับเพิ่มขึ้น มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าบริหารจัดการป้องกันโรคในสุกร และภาวะโรคสุกร ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรหายไปจากระบบ ส่งผลให้ปริมาณสุกรแม่พันธุ์และสุกรขุนลดลง
ขณะที่การท่องเที่ยว ภาคบริการ ร้านอาหารกลับมาเปิดตามปกติ และการจับจ่ายกลับมาคึกคักในช่วงปลายปี ทำให้ความต้องการบริโภคสุกรเพิ่มมากขึ้น การเร่งแก้ปัญหาของรัฐบาลดังกล่าว เพื่อให้คนไทยได้บริโภคเนื้อสุกรที่มีคุณภาพปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘นายกฯ’ กำชับพาณิชย์เร่งดูแลปัญหาหมูแพง! ลดผลกระทบผู้บริโภค
- ‘กรมการค้าภายใน’ เปิดขายเนื้อหมูราคาถูก กก.150 บาท 500 จุดทั่วประเทศ ถึง 15 ม.ค.นี้
- จับคู่ ‘หมู-ข้าว’ กลยุทธ์ วิน-วิน พาณิชย์ช่วยชาวนาขายข้าว ลดต้นทุนผู้เลี้ยงสุกร