Economics

สบน.จับตาผลกระทบ ‘โอไมครอน’ คาดเงินกู้ 5 แสนล้านยังเพียงพอรับมือ!

สบน.จับตา “โอไมครอน” กระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน คาดพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านเพียงพอรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

นางแพตริเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2565 ลงเหลือ 3.4% จากเดิมที่ 3.9% จากผลกระทบของการระบาดของโอไมครอนว่า ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อ ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อนว่าการแพร่ระบาดของโอไมครอน จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน

สบน

คาดเงินกู้ 5 แสนล้านยังเพียงพอ

“ต้องรอดูว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกมา จะมีผลแค่ไหนกับการคงอยู่ของ GDP รวมถึงการดูแลด้านสาธารณสุขว่าจะสามารถรองรับผลกระทบได้มากขนาดไหน” นางแพตริเซีย กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท นั้น ปัจจุบันคิดว่าวงเงินที่มีอยู่ ยังเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น จำเป็นจะต้องมีการหาแหล่งเงินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่จะต้องพิจารณา

สบน

หนี้สาธารณะล่าสุดอยู่ที่ 58%

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย สบน. จะทบทวนตัวเลขหนี้สาธารณะทั้งปีอย่างไรนั้น นางแพตริเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 58% ต่อ GDP และที่ผ่านมา ได้มีการขยับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อ GDP เป็น 70% ต่อ GDP เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง โดยหากมีความจำเป็นจริง ๆ ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าไม่ได้มีการตรากฎหมายกู้เงินเพิ่มเติม คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ต่อ GDP

“หากเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าคาด ก็เป็นไปได้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจดีกว่าคาด สัดส่วนหนี้สาธารณะก็เปลี่ยนได้ เรื่องนี้ในมุมมองของ สบน. คือการสร้างพื้นที่ทางการคลังไว้ และตามแผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเชื่อว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะไม่ถึง 65% ต่อ GDP เว้นแต่จะมีการตรากฎหมายกู้เงินเพิ่มเติมเท่านั้น” นางแพตริเซีย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo