Economics

คาดโทษเจ้าหน้าที่ละเว้น ‘แรงงานผิดกฎหมาย’ เจอฟันวินัยและอาญา

กระทรวงแรงงานออกประกาศคุม “ต่างด้าว” ช่วงวิกฤติโควิด คาดโทษเจ้าหน้าที่รัฐละเว้น “นายจ้าง – แรงงานผิดกฎหมาย” เตรียมเจอโทษทางวินัยและอาญา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) ได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง มาตรการควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564

แรงงานผิดกฎหมาย

ประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวและป้องกันการลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพอนามัยของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

รวมทั้งย้ำเตือนให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ หากพบว่าเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิดแล้วไม่ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม หรือดำเนินคดีกับคนต่างด้าว และนายจ้าง/สถานประกอบการ จะถือว่ากระทำผิดวินัย และอาจได้รับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา

นายสุชาติกล่าวต่อว่า โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งยังกำชับเจ้าหน้าที่ หากพบว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จะมีโทษทางวินัย และโทษทางอาญาไม่มีละเว้น

กระทรวงแรงงานขอฝากถึง แรงงานต่างด้าว ให้เคารพกฎหมายของประเทศไทย อย่าลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย เพราะหากเป็นแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกกฎหมายแล้ว กรณีเจ็บป่วย หรือติดเชื้อโควิด -19 จะได้รับการคุ้มครองและรักษาตามสิทธิประกันสุขภาพ หรือหากอยู่ในกิจการที่มีประกันสังคม จะถือเป็นผู้ประกันตนและได้รับการดูแลรักษาตามสิทธิ ไม่ต่างจากคนไทย ทั้งสามารถทำงานอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องคอยหลบหนีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

shutterstock 1598015770

“แรงงานผิดกฎหมาย” เจอโทษปรับ 5 หมื่น – ส่งกลับประเทศ

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม หรือดำเนินคดีกับคนต่างด้าว และนายจ้าง/สถานประกอบการที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นายจ้างที่รับ แรงงานต่างด้าว เข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ ผู้ใดพบเห็นหรือสงสัยว่ามีคนต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

shutterstock 1878883330 e1615443510722

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารถสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 หรือ ศบค. รายงานอ้างอิงข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 เจ้าหน้าที่มาสามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ถึง 15,378 ราย

ในจำนวนนี้เป็นเมียนมา 6,072 ราย ลาว 882 ราย กัมพูชา 5,114 ราย มาเลเซีย 31 ราย ไทย 1,691 ราย และอื่น ๆ 492 ราย เฉพาะเดือนเมษายน 2564 มีผู้ลักลอบเข้าเมือง 32 ราย

โดยผู้ลักลอบเข้าเมืองและ แรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมายเหล่านี้ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo