Economics

เตรียมพร้อม!! เปิดรับซองประมูลไฮสปีด 12 พ.ย. นี้

“การรถไฟฯ” ซ้อมใหญ่เตรียมรับซองประมูลไฮสปีด 3 สนามบินจากเอกชน 12 พ.ย. นี้ ตั้งเป้าลงนามสัญญาให้ได้ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟฯ มีความพร้อม 100% ที่จะเปิดรับซองประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-ระยอง และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท จากเอกชนในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

“การรถไฟฯ มีความพร้อม 100% เหลือแค่ทบทวนและซักซ้อมกระบวนการในวันที่ 9 พฤศจิกายนเพื่อเตรียมอำนวยความสะดวกและตรวจสอบเอกสารของผู้เข้าประมูล” นายวรวุฒิ กล่าว

S 67919875

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้จัดสำนักงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดิม ซึ่งอยู่บริเวณมักกะสัน เป็นพื้นที่รับซองประมูลครั้งนี้ สำหรับจำนวนผู้ยื่นข้อเสนอนั้น นายวรวุฒิไม่ขอออกความเห็น โดยระบุว่าตนก็ติดตามตามข่าวเหมือนกับคนอื่นๆ และขอให้รอดูการยื่นซองประมูลในวันจันทร์ทีเดียว

ตั้งเป้าลงนามไตรมาส 1 ปีหน้า

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ เตรียมพื้นที่และขั้นตอนการเปิดรับข้อเสนอไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะประชุมเพื่อนัดแนะขั้นตอนเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้

เบื้องต้นการรถไฟฯ ได้เตรียมเจ้าหน้าที่รับข้อเสนอไว้ประมาณ 20 คน นอกจากนี้จะมีตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมสังเกตการณ์ด้วย ด้านโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (IP) ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์ในการประมูลครั้งนี้ จึงไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันได้ประสานตำรวจรถไฟและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) มาช่วยดูแลความเรียบร้อย พร้อมจัดพื้นที่ให้สื่อมวลชนที่เดินทางมาทำข่าว

สำหรับการเปิดรับข้อเสนอในวันที่ 12 พฤศจิกายน จะเริ่มตั้งแต่เวลา 9.30-15.00 น. โดยเอกชนจะยื่นเอกสารเปิดผนึก 1 ชุด พร้อมข้อเสนอทั้งหมด 4 ซอง ถ้าหากการรถไฟฯ พบว่า ผู้เข้าประมูลส่งเอกสารเปิดผนึกไม่ครบ เอกชนก็สามารถหาเอกสารมายื่นได้ภายเวลา 15.00 น. ของวันดังกล่าว

r2
ภาพจาก www.eeco.or.th

สำหรับข้อเสนอในการประมูลอีก 4 ซองประกอบด้วย

1) ข้อเสนอทั่วไป (ด้านคุณสมบัติ) โดยเอกชนต้องผ่านข้อเสนอซองที่ 1 ก่อน จึงได้เปิดข้อเสนอซองที่ 2
2) ข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยเอกชนต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของข้อเสนอซองที่ 2 ก่อน จึงได้เปิดข้อเสนอซองที่ 3
3) ข้อเสนอด้านราคา เอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาลน้อยที่สุด จากวงเงินเต็ม 1.19 แสนล้านบาทจะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้านการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์จะเป็นไปตามราคาที่กำหนดไว้แล้ว ไม่มียื่นข้อเสนอหรือต่อรองแต่อย่างใด
4) ข้อเสนด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ไม่มีผลกระทบต่อการแพ้-ชนะในการประมูล

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ยากที่สุดของการรถไฟฯ เพราะต้องเจรจาโครงการที่มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาทกับเอกชน และระยะเวลาค่อนข้างบีบ แต่เบื้องต้นก็ขีดเส้นไว้ว่า จะต้องเจรจาจบและลงนามกับเอกชนให้ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562” แหล่งข่าวกล่าว

รถไฟความเร็วสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการทั้งหมดมีวงเงินการพัฒนารวม 224,544.36 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน168,718 ล้านบาท, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้นบาท และสิทธิการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลจะได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี ประกอบด้วยระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาการดำเนินการ 45 ปี

สำหรับผู้ที่เข้าประมูลครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่ามีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มซีพี ของตระกูลเจียรวนนท์ และกลุ่มบีเอสอาร์ ที่มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ของนายคีรี กาญจนพาสน์เป็นแกนนำ ด้านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีหลายกลุ่มทาบทามให้ร่วมลงทุนนั้น ประกาศว่าจะร่วมลงทุนกับผู้ชนะการประมูล

Avatar photo