Economics

ลุ้น ‘พ.ร.บ.น้ำ’ ผ่านไม่ผ่านสนช. 28 ก.ย.นี้

aaaaaaaaa
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์

ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. กำลังเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย หลังจากเป็นร่างมาราธอนที่ใช้เวลายกร่างในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญนับปี

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เล่าว่า ทุกคนที่ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ทราบดีว่า เป็นกฎหมายที่ “หิน” เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งพ.ร.บ. 38 ฉบับ กฎกระทรวงและระเบียบนับพันฉบับ รวมถึง 42 หน่วยงานที่มีภารกิจบริหารจัดการ  “น้ำ”

กฎหมายฉบับนี้ จึงใช้เวลาในการยกร่าง กินเวลาทั้งหมด 15 เดือน มีการเดินสายออกชี้แจง 5 ครั้ง รับฟังความเห็นรวม 9 ครั้ง ในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ 52 จังหวัด รวมถึงรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรับฟังทุกภาคส่วนที่มีความเป็นห่วงเป็นใยเข้ามา

กระทั่งออกมาเป็นกฎหมายฉบับหนา 85 มาตราที่มีสาระสำคัญ คือแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกันก็ใส่รายละเอียดข้อห่วงใย และกังวลทั้งหมด

“พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมีขึ้น เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และทำให้เป็นกฎหมายที่ใช้งานได้จริง สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของประเทศที่นับวันจะรุนแรงขึ้นได้ และที่สำคัญสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้น้ำทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชน”

7 สาระสำคัญกฎหมายน้ำ

พล.อ.อกนิษฐ์ ยกสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ใน 7 ประเด็นหลักๆ  ดังนี้

ประเด็นที่ 1. การหาจุดศูนย์กลางบูรณาการทำงาน มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีจาก 6 กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการร่วม

ประเด็นที่ 2. สร้างกลไก “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” เพื่อแก้วิกฤติน้ำ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ มีอำนาจในการระดมคนและทรัพยากรเข้ามาทำงานร่วมกัน

ประเด็นที่ 3. ยกบทบาทของคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ มีภารกิจทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา บริหารจัดการ และบำรุงรักษา ฟื้นฟู รวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ และทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม เสนอต่อกนช.

ที่สำคัญมีอำนาจในการจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำ รวมถึงควบคุมการใช้น้ำ อนุญาตการใช้น้ำ เสนอความเห็นเกี่ยวกับการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ และเสนอความเห็นต่อกนช.เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำนั้นๆ

ปัจจุบันได้มอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติศึกษาจำนวนลุ่มน้ำที่เหมาะสม เพราะข้อมูลว่า ไทยมี 25 ลุ่มน้ำและบอกต่อๆ กันมา เป็นการแบ่งโดยอาศัยอุทกวิทยา หรือหลักการเคลื่อนที่ การกระจายรวมถึงคุณภาพของน้ำ ไม่ได้แบ่งตามหลักการบริหารจัดการ จึงต้องปรับใหม่ ดังนั้นข้อมูลที่พูดไทยมี 25 ลุ่มน้ำจะหายไปจากนี้   

เมื่อปรับใหม่คณะกรรมการลุ่มน้ำก็จะมีจำนวนตามลุ่มน้ำที่จะมีการจัดใหม่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับเลือกเป็นประธาน และกรรมการมาจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ

bbbbbb

ควบคุมการใช้น้ำไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่ 4. กำกับควบคุมการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำ

“บางโรงงานอุตสาหกรรมถือโอกาสดึงน้ำจากแม่น้ำมาใช้เลยโดยไม่มีการขออนุญาต และกลุ่มนี้ใช้น้ำเยอะด้วย ก็ไปกระทบกับผู้ใช้น้ำกลุ่มอื่น แบบนี้ถูกละเลยมานาน ต้องมีมาตรการกำกับควบคุม เพื่อสร้างหลักประกันการเข้าถึงทรัพยากรน้ำของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน กลไกหลักอยู่ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำ”

ประเด็นที่ 5. กฎหมายฉบับนี้ยังให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งขึ้น เพื่อเป็นกลไกตามกฎหมายในการปฏิบัติงานตามภารกิจที่สำคัญ เช่น แก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งฉุกเฉิน

หรือ กรณีมีโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งน้ำ ที่ผ่านมาไม่มีเจ้าภาพดูแลเรื่องเหล่านี้ ทำให้เอาผิดใครไม่ได้ กลไกพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการตรวจจับได้ทันการณ์ ซึ่งมีบทกำหนดโทษอย่างชัดเจนกับผู้ที่กระทำผิดในกรณี รวมถึงกรณีอื่นๆ

ประเด็นที่ 6.ในพื้นที่อ่อนไหว เช่น แหล่งต้นน้ำลำธาร หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ จะถูกดึงกลับมาอยู่ในการดูแลของกนช. จากเดิมที่ท้องถิ่นมีอำนาจดูแลโดยตรง โดยกนช.สามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย

ประเด็นที่ 7. ร่างพ.ร.บ.ยังเข้ามาแก้ไขให้เกิดความสะดวกในการทำงาน ในโครงการที่มีความสำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะต้องเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น อาทิ กรมป่าไม้ ก็มีการปรับขั้นตอนให้ทำงานเร็วขึ้น โดยให้หน่วยงานต่างๆทำเรื่องส่งมอบพื้นที่ให้กรมชลประทานดำเนินการก่อน

2 ปี ศึกษาจัดสรรน้ำ-ใช้น้ำอย่างเหมาะสม

พล.อ.กนิษฐ์ ย้ำว่า ที่ผ่านมามีการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.มาหลายครั้ง โดยนำความเห็นของทุกภาคส่วนมาพิจารณา และพยายามลดข้อกังวลหลักๆ ขณะเดียวกันในบางเรื่องต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ซึ่งต้องใช้เวลา จึงกำหนดไว้ในมาตราสุดท้าย 102 ยกเว้น ในหมวด 4 เรื่อง การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ  เพื่อให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติใช้เวลาศึกษา 2 ปี

สาระสำคัญของหมวด 4 เป็นเรื่องของกลุ่มผู้ใช้น้ำ และรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท เพื่อแยกประเภทให้เหมาะสมมากขึ้น และแก้ไขเปลี่ยนแปลงในระยะต่อไป

ปัจจุบันจึงยังคงใช้แบบเดิมไปก่อน ในการแยกผู้ใช้น้ำออกเป็น 3 กลุ่ม

  • ประเภทที่ 1 ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน เพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ อุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม การใช้น้ำตามจารีตประเพณี และการใช้น้ำในปริมาณน้อย
  • ประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้เพื่ออุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่นๆ
  • ประเภทที่ 3 ในกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำในปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

เพื่อลดข้อกังวล โดยเฉพาะเรื่อง “ค่าน้ำ” จึงตราไว้ชัดเจนในกฎหมาย มาตรา 40/1 ให้การใช้น้ำประเภทที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ

water

ขณะเดียวกันยังได้มอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ศึกษาวิธีการจัดเก็บและจัดสรรรายได้จากการจัดเก็บค่าน้ำของ 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากปัจจุบันแตกต่างกัน บางหน่วยงานส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 100% แต่บางหน่วยงานส่ง 70% อีก 30% จัดสรรเป็นเงินบริหารจัดการภายในหน่วยงาน

นอกจากนี้ ยังลดข้อกังวลของภาคเอกชนบางประการ เช่น ในกรณีเกิดภาวะวิกฤติน้ำแล้ง ร่างเดิมกำหนดให้รัฐสามารถเข้าไปใช้น้ำของภาคเอกชนที่มีแหล่งกักเก็บน้ำได้ เพื่อแก้ปัญหา ในร่างกฎหมายนี้จึงกำหนดชัดเจนให้รัฐต้องจ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นความธรรม

การรับฟังความเห็นหลายๆ เวที การลดข้อกังวลหลักๆ ของประชาชน และเอกชน อาจทำให้กฎหมายฉบับนี้ใช้เวลาในการยกร่างแก้แล้วแก้อีกนานนับปี แต่ก็ทำให้ร่างกฎหมายซึ่งโยงใยพ.ร.บ.อื่นๆ มากมาย และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากสามารถฝ่าด่านมาถึงขั้นตอนนี้ เหลือเพียงการส่งแรงต่อโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ต้องการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งเราทุกคนต้องเผชิญมาโดยตลอด พร้อมกับการวางแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศให้คนไทยพ้นจากวิกฤติซ้ำซาก

Avatar photo