Economics

‘สนธิรัตน์’ ไม่กังวล หลุดเก้าอี้ ‘รมว.พลังงาน’ ย้ำเกณฑ์ใหม่ ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์ โปร่งใส-ตัดวงจรวิ่งเต้น

“สนธิรัตน์” ไม่กังวลเก้าอี้หลุดรมว.พลังงาน วางเกณฑ์ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์โปร่งใส และรัดกุม ตัดวงจรวิ่งเต้น พร้อมเปิดรายชื่อโครงการ ที่ผ่านการอนุมัติลงเว็ปไซด์ ให้ประชาชนช่วยตรวจสอบ ย้ำไม่ปล่อยอำนาจอื่นแทรกแซงกองทุนฯ  ด้านถูกร้องเรียนสตง.โครงการโซลาร์สูบน้ำ ระบุให้เป็นไปตามกฎหมาย

S 13877253

วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการเปิดให้ยื่นขอใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปี 2563 ซึ่งปีนี้ตั้งวงเงินไว้รวม 5,600 ล้านบาท จนถึงวันนี้มีหน่วยงานและองค์กร ยื่นโครงการขอใช้เงินมาแล้วรวม 20,000 ล้านบาท ซึ่งการใช้เงินของกองทุนฯในปีนี้ มาพร้อมกับข่าวคราวการวิ่งเต้นต่างๆ เพื่อรักษาเก้าอี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกโรงโต้ข่าวในวันนี้ ว่า ขอให้ดูย้อนกลับไปว่าการใช้เงินกองทุนฯที่ผ่านมากับยุคนี้เป็นอย่างไร

ผมและผู้บริหารกระทรวง วางกฎเกณฑ์การดำเนินงานรัดกุมมากๆ เพราะตน มานั่งในตำแหน่งนี้ ก็ตั้งใจมาปฏิรูปด้านพลังงานให้ชัดเจน ไม่เน้นทำโครงการที่ซื้อของแล้วจบ แต่ให้ความสำคัญกับการใช้เงินไปแล้วก่อให้เกิดการจ้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมีขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาตัดสินใจ มีคณะกรรมการ 4 ชุดที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1.อนุกรรมการกองทุน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ดำเนินการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ นโยบายของกองทุนฯ

2.คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน

3.อนุกรรมการติดตามประเมินผล มีดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงาน เป็นประธาน

4.อนุกรรมการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยปีนี้กองทุนอนุรักษ์พลังงานเปิดรับข้อเสนอจาก หน่วยงาน 2 ประเภท ประกอบด้วย

หน่วยงานทั่วไป อาทิ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา เอกชนที่ไม่แสวงหากำไร

-คณะกรรมการจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ในโครงการพลังงานชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติของกองทุน ยังแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่รับข้อเสนอผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ทำหน้าที่แยกแยะ ว่าโครงการไหนเข้าเกณฑ์ไม่เข้าเกณฑ์ และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯที่มีนายสมคิด จตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำการอนุมัติรอบสุดท้าย

ส่วนคณะอนุกรรมการฯที่ตนเองเป็นประธานทำงานเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย และทิศทาง ให้สอดรับกับทิศทางของกองทุนฯ เท่านั้น ยืนยันว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่อำนาจสั่งการปลัดกระทรวง หรือคณะกรรมการชุดใดๆได้ อีกทั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ยังไม่สามารถทำงานตามอำเภอใจ เพราะมีเกณฑ์การกำหนดที่ชัดเจน

ประเด็นการพิจารณาการใช้เงินกองทุนฯในปีนี้ ที่ไม่เหมือนอดีต นายสนธิรัตน์ แจกแจง 2 เรื่อง ดังนี้

-มีคณะอนุกรรมการฯทำหน้าที่ติดตามประเมินผล หลังโครงการได้รับการอนุมัติ

-จะนำทุกโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ขึ้นเว๊ปไซด์ เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบได้ ว่าใช้เงินตรงตามเงื่อนไขหรือไม่

“เราเรียนรู้อดีต ไม่ต้องการให้เกิดการวิพากวิจารณ์ ดังนั้นกระบวนการทำงานใหม่ จึงวางกฎเกณฑ์จึงรัดกุม เราตั้งใจให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ไม่เปิดโอกาส ให้อำนาจอื่นมาแทรกแซงเงินกองทุนฯ  ถ้ามีเบาะแสขอให้ร้องเรียน ผมจะดำเนินการทันที  ยืนยันว่าต้องใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยชน์ มั่นใจว่ากระบวนการพิจารณาของโครงการตรวจสอบได้ ปิดจุดอ่อนของการแทรกแซง และวิ่งเต้น  ทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน  “

นายสนธิรัตน์ ย้ำว่า อย่างไรก็ตามการใช้เงินกองทุนฯปีนี้ จะต้องมีบทบาทแก้วิกฤติโควิด-19 ด้วย รวมถึงภัยแล้ง ส่วนการขอใช้เงินกองทุนฯเพื่อทำโครงการโซลาร์สูบน้ำนั้น ต้องเน้นไปที่จังหวัดที่มีปัญหาภัยแล้ง 24 จังหวัด และต้องดูด้วยว่า สูบน้ำแล้ว เอาน้ำไปทำอะไร เพราะหัวใจ คือแก้ภัยแล้ง แก้ปัญหาให้เกษตรกร และต้องทำตามกฎเกณฑ์ ไม่ใช่ทุกโครงการจะได้รับการอนุมัติหมด ต้องเป็นประโยชน์ในเชิงพื้นที่จริงๆ
ส่วนกรณีเรื่องที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย

และขอย้ำว่าโครงการใดก็ตามที่มีปัญหาในอดีต จะถูกขึ้นแบล็คลิสต์ จะไม่ได้ทุนจากกองทุนฯอีก ในอดีตไม่เอาจริง แต่ปีนี้จะเอาจริง แต่หากโครงการไหนทำดีก็มีเครดิต ทั้งหมดที่เราทำ เพื่อวางขั้นตอนให้ชัดเจน โปร่งใส ตัดวงจรการวิ่งเต้น

สำหรับโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย ทำไม่ดี ปีต่อๆไปก็ไม่ได้อีก หรือขอใช้เงินไปแล้ว ทำไม่ได้ตามสเปค ก็ต้องรับผิดชอบด้วย สมัยก่อนไม่มีกลไกแบบนี้ เพราะคิดว่าเราแค่ให้ทุนเท่านั้น

” ผมไม่กังวลว่า โครงการนี้จะทำให้เก้าอี้รมว.พลังงานสั่นคลอน เพราะเราโปร่งใสทุกอย่าง และผมจะเดินทางไปลงพื้นที่ เพื่อติดตามตรวจสอบด้วยตัวเองด้วย ”  

DSC 3834

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เดิมทีการพิจารณาของใช้เงินกองทุนฯ เราดูเป็นรายโครงการ แต่ตอนนี้เราจะลดความซ้ำซ้อน และดูเป็นรายจังหวัด ที่สำคัญต้องเข้าเกณฑ์สำคัญ คือ โครงการนั้น สามารถช่วยเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยการจ้างงาน จ้างรายได้ และแก้ปัญหาแล้ง

กรณีแก้ปัญหาภัยแล้ง ก็เน้น 24 จังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ก็ต้องมีน้ำบาดาลอยู่ในพื้นที่ด้วย ขุดเจาะต้องเจอน้ำ โดยประสานข้อมูลกับกระทรวงทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อนำมาประกอบพิจารณา หากขุดไปแล้วไม่เจอน้ำ เราก็ไม่ให้ทุน ทั้งนี้ที่เราวางเกณฑ์ไว้ทั้งหมด ทำให้ฐานการทำงานแน่นขึ้นมาก ไม่สะเปะสปะ

ทั้งนี้หลังจากปิดรับโครงการแล้ว จะทยอยพิจารณา โครงการไหนเข้าเกณฑ์ไม่เข้าเกณฑ์ และเสนอคณะกรรมการฯที่มีดร.สมคิด เป็นประธานภายในเดือนมิถุนายน และเริ่มดำเนินโครงการ 1 กรกฎาคมนี้

Avatar photo