Economics

รื้อใหญ่ ‘ไทยสมายล์’ คาดช่วย ‘บินไทย’ ขาดทุนลดลง 2 พันล้าน

รื้อใหญ่ ไทยสมายล์เชื่อปีนี้เห็นผลชัดและปีหน้าเลิกขาดทุน คาดจะส่งผลดีถึงบริษัทแม่ ปีนี้ การบินไทยจะติดลบเพราะลูกน้อยลง 2 พันล้านบาท

สุเมธ การบินไทย

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินงานของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่การบินไทยถือหุ้น 100% ว่า ในปี 2561 การบินไทยขาดทุนจากการถือหุ้นและทำธุรกิจในสายการบินไทยสมายล์รวม 3,600 ล้านบาท

แต่ในปี 2562 สายการบินไทยสมายล์จะมีผลประกอบการขาดทุนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากการบินไทยและไทยสมายล์ได้ร่วมกันปรับปรุงกำลังการผลิตและการตลาดใหม่ ส่งผลให้ในขณะนี้ไทยสมายล์มีอัตราการบรรทุก(Cabin Factor) ดีขึ้นในหลายเส้นทางและกำไรต่อหน่วย(Yield) ก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย

ในด้านการผลิต ไทยสมายล์ได้เพิ่มชั่วโมงการใช้งานเครื่องบินจากเดิม 8 ชั่วโมง 30 นาทีต่อลำต่อวันเป็น 9 ชั่วโมง 30 นาทีต่อลำต่อวันและจะเพิ่มเป็น10 ชั่วโมง 30 นาทีต่อลำต่อวันในปี 2563 ซึ่งถือเป็นจุดคุ้มทุนในการใช้เครื่องบินและไทยสมายล์จะไม่ขาดทุนอีก

ไทยสมายล์ 3 1

เน้นเชื่อมสายการบินพรีเมี่ยม

นอกจากนี้ การบินไทยได้ดึงงานที่ซ้ำซ้อนกับไทยสมายล์ทั้งหมด ยกเว้นฝ่ายนักบินและลูกเรือ กลับมาไว้ที่การบินไทยเพื่อลดต้นทุน สำหรับงานที่ดึงกลับมา เช่น การตลาด การวางเส้นทางการบิน การออกแบผลิตภัณฑ์ การขาย โดย เปลี่ยนบทบาทให้เป็นคนการบินไทย แต่ทำงานให้ไทยสมายล์ 

ขณะเดียวกันได้วางคอนเซ็ปต์ของไทยสมายล์ใหม่ด้วยการให้เป็น “สายการบินที่เน้นการเชื่อมต่อ” (Connecting) กับสายการบินระดับพรีเมี่ยม โดยล่าสุดไทยสมายล์เพิ่งเข้าเป็นสมัครชิกกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์และจะเชื่อมต่อเที่ยวบินกับสตาร์อัลไลแอนซ์ได้ 100% ภายในปีนี้

 ขณะเดียวกันสายการบินนอกกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์เช่น สายการบินแอร์ฟรานซ์ ก็สนใจเข้ามาเชื่อมต่อด้วย เนื่องจากผู้โดยสารที่ใช้บริการเที่ยวบินระดับพรีเมี่ยมในเส้นทางระยะยาวจะได้รับความสะดวกสบายในเรื่องการเช็คอิน น้ำหนักกระเป๋า และการส่งต่อสัมภาระให้เที่ยวบินถัดไป

ในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็มีการวางคอนเซ็ปต์แบบ One city One product คือ ถ้าไทยสมายล์บินเข้าเมืองไหน การบินไทยก็จะไม่บิน ถ้าการบินไทยให้บริการที่เมืองไหน ไทยสมายล์ก็จะไม่บิน โดยไทยสมายล์จะให้บริการในเส้นทางระยะสั้นแทนการบินไทย ซึ่งประสบปัญหาเครื่องบินไม่พอ ส่วนการบินไทยจะเน้นบินในเส้นทางระยะยาว

ไทยสมายล์

ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

สำหรับกรณีที่ไทยสมายล์ต้องการเงินในการเพิ่มทุนนั้น นายสุเมธกล่าวว่าจริงๆ  ไทยสมายล์ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน แต่ต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ข้อคือ 1. แก้ปัญหามาตรฐานบัญชีใหม่และ 2. ประโยชน์ในการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆเนื่องจากหลายประเทศไม่อนุญาตให้สายการบินที่มีงบการเงินไม่ดีบินเข้า เช่น ฟิลิปปินส์ เพราะกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ทิ้งผู้โดยสาร ดังนั้น หากแก้ไขปัญหาเรื่องงบการเงินของไทยสมายล์ได้ก็ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวและทำให้ความกังวลในหลายๆ เรื่องหายไป

ทั้งนี้ นายสุเมธพูดถึงการเพิ่มทุนอีกว่า แต่ถ้าผมทำก็ต้องเป็นลีลาพิเศษหน่อย แต่ยังไม่ได้เปิดเผยว่าการบินไทยต้องใช้เงินเพิ่มทุนเท่าใดและจะแก้ปัญหาทางบัญชีด้วยวิธีการใด เพียงแต่ระบุว่าจะเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จโดยเร็ว

สำหรับกรณีที่นายถาวร เสนเนียมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้การบินไทยทบทวนและปรับสถานะของสายการบินไทยสมายล์ให้เป็นสายการบินราคาประหยัด (Low-Cost Airline) นั้นนายสุเมธกล่าวว่าตนได้ชี้แจงเรื่องนี้กับนายถาวรแล้วและคงต้องพิสูจน์กันต่อไป

สุวรรณภูมิ สนามบิน

“บินไทย” ลุ้นขาดทุนลดลง 2 พันล้านบาท

รายงานข่าวจากสายการบินไทยสมายล์เปิดเผยว่า ในปี 2561 ไทยสมายล์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 2,602 ล้านบาทและขาดทุนสะสมอยู่ที่ 8,623 ล้านบาท ด้านการบินไทยมีผลขาดทุนจากการเข้าไปถือหุ้นและลงทุนในสายการบินไทยสมายล์ในปี 2561 ประมาณ 3,600 ล้านบาทหรือคิดเป็น 1 ใน3 ของผลขาดทุนสุทธิของการบินไทยในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 11,625 ล้านบาท

 อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ไทยสมายล์เริ่มมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ไทยสมายล์มีกำไรสุทธิ 53 ล้านบาท ถ้าหากดำเนินการได้ตามแผนก็คาดว่าผลประกอบการทั้งปี 2562 จะมีผลขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 45 ล้านบาทและขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 8,525 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 การบินไทยจะมีผลขาดทุนจากการเข้าไปถือหุ้นและลงทุนในไทยสมายล์ลดลงเหลือ 1,600-1,700 ล้านบาท

 ทั้งนี้ปัจจุบันไทยสมายล์มีเครื่องบินทั้งหมด 20 ลำโดยมีเส้นทางบินในประเทศ 10 จุด ให้บริการด้วยความถี่ 266 เที่ยวต่อสัปดาห์ และเส้นทางระหว่างประเทศ 19 จุดบินใน 7 ประเทศ ให้บริการด้วยความถี่ 131 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  

Avatar photo