Economics

‘รมช.คลัง’ ยันเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่เลื่อนแล้ว! ลั่น 10 เม.ย. ทุกอย่างจะชัดเจน

“รมช.คลัง” ยันเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่เลื่อนแล้ว! ลั่น 10 เมษายน 2567 ทุกอย่างจะชัดเจน ชี้ไม่ว่าจะเลือกกู้หรือไม่กู้ก็ยืนยันว่ามีแหล่งเงินเพียงพอ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กระทรวงการคลัง มีความชัดเจนถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ในวันที่ 10 เมษายน 2567 เป็นผู้ตัดสินใจในรายละเอียด แต่มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วจะมีคำตอบเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย

เงินดิจิทัล

ทั้งนี้ ข้อเสนอต่าง ๆ มีการเตรียมไว้ครบถ้วน แต่สุดท้ายคณะกรรมการชุดใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินใจ เปรียบเทียบว่าจะใช้แนวทางใด โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ติดขัด และยินดีหากมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดแหล่งเงินจากเดิมที่วางแนวทางไว้ ตอนนี้ต้องให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูให้กลับไปขยายตัวได้เต็มศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังเปิดเผยไม่ได้ว่าจะใช้แนวทางการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาททั้งหมด หรือใช้ร่วมกับเงินงบประมาณของภาครัฐ หรือจะไม่ออก พ.ร.บ.เงินกู้เลย แต่ทุกอย่างจะมีความชัดเจนในวันที่ 10 เมษายนนี้ และไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ยืนยันว่ามีแหล่งเงินเพียงพอสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแน่นอน

“จะไม่มีการเลื่อนโครงการนี้ออกไปจากวางไทม์ไลน์ว่าจะเริ่มได้ในช่วงไตรมาส 4/67 โดยจะเปิดให้ร้านค้า ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนได้ภายในไตรมาส 3/67” รมช.คลัง ยืนยัน

เงินดิจิทัล
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมวันที่ 10 เมษายนนอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องของแหล่งเงินแล้ว จะให้ความสำคัญกับเงื่อนไขร้านค้าที่ร่วมโครงการด้วย โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก รายย่อย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายคณะทำงานให้ไปศึกษากลไกให้การใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นประโยชน์ตกอยู่กับร้านค้ารายย่อยก่อนเป็นอันดับแรก

“เม็ดเงินต้องส่งตรงถึงมือรายย่อยก่อน แม้ว่าจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันข้อท้วงติงว่าโครงการนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้มีเงินดิจิทัล หมุนเวียนอยู่ในระบบตามเป้าหมาย 3 ปี” รมช.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความเชื่อมโยงกับระบบ Wallet ของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงของประชาชน ไม่จำเป็นต้องมีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ช่องทางเดียวเท่านั้น โดยประชาชนต้องสามารถเข้าถึงดิจิทัลวอลเล็ตจากธนาคารอื่น ๆ ที่เข้ามาเชื่อมระบบกับโครงการด้วย โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล ไปจัดทำข้อเสนอดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK