Economics

อุตสาหกรรม คุยผู้ประกอบการรถอีวี 100 ราย แจงสิทธิประโยชน์ พร้อมชวนร่วมมาตรการ EV 3.5

อุตสาหกรรม คุยผู้ประกอบการรถอีวี 100 ราย แจงสิทธิประโยชน์ พร้อมชวนร่วมมาตรการ EV 3.5 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นวิทยากรในการประชุมชี้แจง “มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการ EV3.5” ร่วมกับนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายบัญชร ส่งสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 กรมสรรพสามิต และนายเอก สาตรวาหา ผู้อำนวยการกองนโยบายและอุทธรณ์พิกัดอัตราศุลกากร กรมศุลกากร

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งผู้ผลิต และ/หรือผู้นำเข้า รถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งสิ้น 100 ราย เข้าร่วมรับฟังการชี้แจง

อุตสาหกรรม

แจงเงื่อนไขสิทธิประโยชน์มาตรการ EV 3.5

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่อง มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV3.5 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

จึงได้จัดการประชุมชี้แจงรายละเอียดและเงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ซึ่งเป็นมาตรการสร้างตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและเงินอุดหนุนกับรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่เข้าร่วมโครงการ

โดยมาตรการ EV3.5 ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 1 (หรือ EV3) 2 ประการ ได้แก่ การตรวจสอบแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และการกำหนดคุณสมบัติการชาร์จเร็วของรถยนต์ไฟฟ้า

อุตสาหกรรม

มาตรการเพิ่มเติมแบตเตอรี่ตามมาตรฐาน มอก.

นายณัฐพล กล่าวว่า แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วม EV3.5 จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน มอก.3026-2563 การทดสอบระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้า

โดยหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เคยทดสอบมาก่อน จะต้องนำมาทดสอบตามมาตรฐาน ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่หากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผลทดสอบตามมาตรฐานเทียบเท่า เช่น UN R100, Rev.02 หรือที่สูงกว่า อยู่แล้ว ก็สามารถนำผลทดสอบดังกล่าวมายื่นขอเทียบเคียง มอก.3026-2563 ได้

อุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ในการประชุมชี้แจง ได้มีการสอบถามความเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับความเร็วสูงสุดที่ชาร์จได้ของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำมากำหนดเงื่อนไขการชาร์จเร็ว (Quick Charge) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การเข้าชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าในสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ (Charging Station) เกิดประสิทธิภาพสูง ลดระยะเวลาการชาร์จให้น้อยที่สุด อันจะช่วยลดข้อกังวลใจของผู้บริโภคในเรื่องระยะเวลาการชาร์จไฟที่ค่อนข้างนาน และความพอเพียงของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะได้

เงื่อนไขการตรวจสอบแบตเตอรี่ และการกำหนดคุณสมบัติการชาร์จเร็วในมาตรการ EV3.5 ดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในช่วงเริ่มต้นของมาตรการ EV3.5 และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอีกด้วย

ซึ่งผลตอบรับจากประชุมชี้แจงดังกล่าว คาดว่า จะมีผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายสมัครเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo