Business

ส.อ.ท. หวังมาตรการ EV 3.5 สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เร่งเม็ดเงินลงทุนไทย

โฆษกรัฐบาล เผยฯ ส.อ.ท. ขอบคุณมาตรการ EV 3.5 สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เชื่อมั่นช่วยกระตุ้นการตัดสินใจ เร่งการลงทุนของนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยได้เพิ่มมากขึ้น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอบคุณรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) ที่เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยได้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

มาตรการ EV 3.5

ทั้งนี้ภายหลังคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ได้มีมติรับทราบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) ซึ่งจะมีผลบังคับในช่วงปี 2567-2570 โดยครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาค

ส.อ.ท. เชื่อมั่นว่า บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวจะเริ่มทยอยลงทุนก่อสร้างโรงงานในไทยตามเงื่อนไข และคาดว่า จะเห็นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยสำหรับรอบนี้ประมาณช่วงปี 2568-2570 เป็นต้นไป

สำหรับมาตรการ EV 3.5 มีสิทธิประโยชน์ ทั้งในส่วนเงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้า รถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่

รถไฟฟ้า

ขณะที่ กรมสรรพสามิตคาดว่า จะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวน 8.3 แสนคัน โดยแบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้า 4.54 แสนคัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 3.46 แสนคัน และรถกระบะไฟฟ้า 3 หมื่นคัน

ในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนพฤศจิกายน 2566 มีการจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 11,290 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 292.29% ส่งผลให้ ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 (11 เดือน) มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 89,027 คัน เพิ่มขึ้น 391.29%

นายชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีส่งเสริมมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มาตรการ EV 3.5 เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้การดำเนินนโยบายของไทยเท่าทันกระแสความท้าทายโลก เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้มีนโยบายการเปลี่ยนผ่าน จาก ICE ไปสู่ EV ได้อย่างราบรื่น และชักจูงให้บริษัทรถยนต์ EV รายใหม่เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo