“สภาพัฒน์” เผยเศรษฐกิจไทย 9 เดือนขยายตัว 1.9% หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.5% ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3.5% ชี้การขยายตัวดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะ เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวได้ 1.8% รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9%
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้เหลือขยายตัว 2.5% จากเดิม 2.5-3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดอยู่ที่ 1.4% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.0% อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส ทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะ ณ เดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 62.1% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่าจะเติบโตได้ 3.5% ซึ่งการขยายตัวในระดับดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล จะมีแหล่งเงินจากที่ใด ตลอดจนต้องรอดูความชัดเจนในประเด็นอื่น ๆ ด้วย เช่น รูปแบบการใช้จ่าย
“จีดีพีปี 67 สภาพัฒน์ยังไม่ได้รวมเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตไว้ เพราะสุดท้ายแล้วคงต้องรอดูว่านโยบายนี้จะใช้วงเงินเท่าไร ใช้เงินจากแหล่งไหน ใช้เงินกู้ หรือไม่ใช้ และซึ่งคงต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความรอบคอบ” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
เมื่อถามว่า เศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ว่า นายดนุชา กล่าวว่า ตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการที่คาด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการท่องเที่ยว
“โดยรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่หากจะให้ดีกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
ส่วนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ระดับ 5% นั้น นายดนุชา มองว่า เป็นเป้าหมายในการบริหารด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจไทยไปถึงระดับนั้นได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทั้งด้านการส่งออก และการลงทุนเป็นสำคัญ เร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในเรื่องเสถียรภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการท่องเที่ยว ที่ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ เพื่อสามารถเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น
“เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไม่เช่นนั้นการเติบโตจะอยู่ในระดับแค่ 3%กว่าไปแบบนี้ โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ ส่วนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่คาดว่าจะโตได้ 2.5% และปี 2567 โตได้ 3.5% นั้น ถือว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อ” นายดนุชา กล่าว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอเลี้ยบ’ ร่ายยาว! เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้อ่อนแอที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด!
- ‘เศรษฐา’ ย้ำ! เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ยันไม่มีอคติ พร้อมน้อมรับคำแนะนำ
- ‘สภาพัฒน์’ ยันข่าวปรับ VAT เป็น 10% แค่หารือ ต้องพิจารณารอบด้าน