Economics

ขึ้นทะเบียน GI ‘ข้าวเบายอดม่วงตรัง’ ข้าวพื้นเมือง จ.ตรัง สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 20 ล้านต่อปี

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน GI “ข้าวเบายอดม่วงตรัง” ข้าวพันธุ์พื้นเมืองจังหวัดตรัง มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI รายการใหม่ “ข้าวเบายอดม่วงตรัง” ซึ่งเป็น GI รายการที่ 3 ของจังหวัดตรัง ต่อจากพริกไทยตรัง และหมูย่างเมืองตรัง ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้

ข้าวเบายอดม่วงตรัง

สร้างมูลค่เพิ่มให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี

โดยมั่นใจว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน และสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี

สำหรับข้าวเบายอดม่วงตรัง เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองประจำถิ่นที่คนตรังรู้จักกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการเก็บรักษาสายพันธุ์ข้าวมากว่า 100 ปี มีลักษณะเด่นคือในหนึ่งกอข้าวเปลือกจะมีหลายสี แรกเริ่มสีเขียว จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และเมื่อถึงระยะเก็บเกี่ยวจะมีสีม่วงคล้ายสียอดมะม่วง จึงเป็นที่มาของชื่อข้าวเบายอดม่วงตรัง

สัมผัสของข้าวเมื่อหุงแล้วมีเหนียวนุ่ม ไม่กรุบหรือกระด้าง เคี้ยวง่าย ไม่ฝืดคอ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติโดดเด่นตอบโจทย์คนรักสุขภาพ เพราะเป็นข้าวที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนสูงกว่าข้าวทั่วไป มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงทำให้ข้าวเบายอดม่วงตรัง เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด

ข้าวเบายอดม่วงตรัง

รายได้ให้กับชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

นายวุฒิไกร กล่าวว่า ด้วยความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดตรัง รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ของจังหวัดที่เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์ นำมาสู่การขึ้นทะเบียน GI อย่างต่อเนื่องของจังหวัดตรัง เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368

ข้าวเบายอดม่วงตรัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo