Economics

‘TCEB’ รวมพลังขับเคลื่อน ‘MICE For All’ ผ่านมาตรฐาน ‘TMVS’ สู่การยกระดับสถานที่จัดงานไมซ์

TCEB เดินหน้าจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ “มาตรฐานสถานที่จัดงาน” ผ่านการจัดงานสัมมนา “มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย” 3 เวที ใน 3 เมืองหลัก สร้างการรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญ มาตรฐานสถานที่จัดงาน

อรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB  เล่าถึงทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจของอุตสาหกรรมไมซ์ รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการ หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด และประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งว่า ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ สะท้อนผ่านตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังเปิดประเทศ

S 28795273 0 0

เห็นได้จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงปี 2565 มีผู้มาเยือนจากต่างประเทศประมาณ 20,000 คน แต่พอถึงช่วงปลายปี 2566 ตัวเลขผู้มาเยือนจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 220,000 คน

สัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นนี้ จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ ในการที่จะจัดอีเวนท์ หรืองานแฟร์ต่าง ๆ ขึ้นมารองรับ เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง หรือนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยใช้โอกาสที่ไทย เป็นประเทศแรกของโลก ที่พัฒนาข้อกำหนด หรือสร้างมาตรฐานสถานที่จัดงานระดับประเทศขึ้น ภายใต้แบรนด์  “Thailand MICE Venue Standard” (TMVS) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“ความยั่งยืน” (Sustainability) ซึ่งเป็นเทรนด์ระดับโลก ที่ถูกนำใช้ขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมในเวลานี้ รวมถึงเรื่องของการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไมซ์ จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างการเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการอย่างโรงแรม หรือรีสอร์ท ต้องไม่คิดหวังแค่การสร้างผลกำไร แต่ต้องคิดถึงชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่ด้วย

รวมถึงต้องตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมเพื่อลดคาร์บอนในพื้นที่ เช่น หลายโรงแรมนำสินค้าชุมชนมาใช้เพื่อลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนจากการขนส่ง และยังเป็นการช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ซึ่งทำให้สถานประกอบการ ชุมชน และเมืองมีความเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นความยั่งยืนขึ้นในแบบของอุตสาหกรรมไมซ์

ทางด้าน สำราญ สอนผึ้ง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริการด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ชี้แจงเกี่ยวกับ มาตรฐาน TMVS ว่าประกอบไปด้วยข้อกำหนด 4 ด้านด้วยกัน คือ

  • กายภาพ
  • การบริการ
  • เทคโนโลยี
  • ความยั่งยืน

รวมถึงมีเกณฑ์การตรวจประเมินด้านสุขอนามัย และการจัดงานเสมือนจริง (Hygiene & Hybrid) หรือ 2HY ซึ่งนอกจากจะสอดคล้อง และตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นเมกะเทรนด์แล้ว มาตรฐาน TMVS ยังสามารถตอบโจทย์การเป็น สถานที่จัดงานสำหรับคนทั้งมวล (MICE For All) หรือคนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย และทุกสถานะได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์เพิ่มเติม ในเรื่องการนำมาตรฐานสากลอื่น ๆ มาใช้ เพื่อยกระดับสถานประกอบการเพิ่มเติม อาทิ

  • มาตรฐาน ISO 23301 มาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
  • มาตรฐาน ISO 25550 ให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัย รวมถึงข้อกำหนด และแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงคนวัยทำงาน
  • มาตรฐาน ISO 1400 เน้นข้อกำหนดในด้านสิ่งแวดล้อม
  • มาตรฐาน ISO 45000 ให้ความสำคัญกับการพัฒนา และดูแลพนักงานซึ่งเป็นทุนมนุษย์

โดยได้แนะนำให้สถานประกอบการเลือกใช้ และมุ่งเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานซึ่งสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานประกอบการของตนเอง

S 28795271 0 0

นอกจากเวทีสัมมนา TMVS จะมีผู้บริหาร และบุคลากรจาก TCEP ผนึกพลังกันมาร่วมเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อยกระดับสถานที่จัดงานในอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยแล้ว ยังมีตัวแทนภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนที่มาร่วมสัมมนาบนเวทีด้วย

สรรเพ็ชร ศุภบวรเสถียร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ได้มาร่วมให้ทัศนะ บนเวทีสัมมนามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทยครั้งแรกที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ถึงเรื่องที่ผู้ประกอบการจะสามารถนำ TMVS มาใช้ในการรองรับการกลับมาเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างไรบ้าง โดยยกตัวอย่างการนำ TMVS ไปใช้ในการทำมาร์เก็ตติ้ง

ขณะที่ เจนรบ ชัยเลิศ ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ พัฒนาบุคลิกภาพ และการสื่อสารได้เน้นย้ำในเรื่อง Soft Skill ที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน TMVS ว่า Soft Skill ที่ถือเป็นเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของสถานที่จัดงานในประเทศไทยก็คือ “การบริการ” ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยมีความโดดเด่น และยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้จัดงานสนใจอยากเข้ามาใช้บริการสถานที่จัดงานในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ เวทีสัมมนาครั้งที่ 2 ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วสันต์ กิตติกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก และ พิพัฒน์ พัฒนานุสรณ์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม ดุสิตธานี หัวหิน ตัวแทนผู้ประกอบการที่มาร่วมเสวนาในครั้งนี้ ร่วมแบ่งปันแนวคิดในการจัดอีเวนท์ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเข้ามา

วสันต์ มองว่า จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีความโดดเด่นในแง่ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหากภาครัฐเข้ามาร่วมโปรโมทมากขึ้นก็จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความชอบและความสนใจที่หลากหลายได้ รวมถึงนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่มองหาสถานที่จัดประชุม สัมมนา ให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

ส่วน พิพัฒน์ มองไปถึงการร่วมมือกันของภาครัฐ และสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในตลาดอาเซียน เข้ามาทำกิจกรรมเทรนนิ่ง ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่าง ๆ ในปัจจุบัน รวมถึงการดึงกลุ่มผู้สูงวัย หรือกลุ่ม Silver Hair และกลุ่ม Wellness ที่ใส่ใจในสุขภาพเข้ามาพักอาศัยระยะยาวในเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งยังคงมีความสงบ และเต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม

นอกจากนี้ ยังมองไปถึงการขยายช่องทางโลจิสติกส์ เช่นการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากต่างชาติสามารถเดินทางมาเพชรบุ รีและประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น

S 28795274 0 0

สำหรับการสัมมนามาตรฐานสถานที่จัดงาน ที่กรุงเทพมหานคร เวทีปิดท้ายของการจัดกิจกรรมนี้ วรธีรา สุวรรณศร ผู้อำนวยการกองพัฒนาบริการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา สนับสนุนพันธกิจของ TCEB ที่ตั้งเป้าจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย ไปสู่ระดับโลก

วรธีรา ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ ก็คือหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มที่อาจไม่ได้มีจำนวนคนเข้ามาในแต่ละครั้งเยอะมาก แต่เข้ามาแล้วอยู่นาน และมีการใช้จ่ายสูง

การมีภาพลักษณ์ที่ดีร่วมกับการส่งเสริมสถานประกอบการให้มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้เข้ามามากขึ้นได้

ทางด้าน กฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ร่วมให้ข้อเสนอแนะว่า นอกจากจะพัฒนามาตรฐานของสถานประกอบการแล้ว หากแต่ละเมืองในอุตสาหกรรมไมซ์ ช่วยกันหาความโดดเด่น และเอกลักษณ์ของแต่ละเมืองให้เจอ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มคุณค่า และเป็นเสน่ห์ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพได้ โดยยกตัวอย่างอุดรธานี ซึ่งประกาศความเป็นเมืองอารยธรรมมนุษย์

การรวมพลังกันของภาคีทุกฝ่าย-ทุกเมืองในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อขับเคลื่อนการนำมาตรฐาน TMVS มาใช้ยกระดับสถานที่จัดงานไมซ์เพื่อคนทั้งมวล จึงเป็นก้าวสำคัญในการนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็น Hub หรือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม MICE For All บนเวทีโลกอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo