Economics

เฮ!! ส่งออกเดือน ส.ค. ขยายตัว 2.6% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

เฮ!! ส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 ขยายตัว 2.6% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน แต่รวม 8 เดือน ยังติดลบ 4.5%

นายกีรติ รัชโน ปลัด กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 มีมูลค่า 24,279.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% เป็นการพลิกกลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ถือเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 824,938.0 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,919.7 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.8% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 822,476.4 ล้านบาท

ส่งออกเดือนสิงหาคม

ขณะที่ ได้ดุลการค้ามูลค่า 359.9 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,461.6 ล้านบาท รวมการส่งออก 8 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 187,593.1 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 6,379,734.3 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 195,518.6 ล้านดอลลาร์ ลด 5.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 6,732,833.5 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 7,925.4 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 353,099.2 ล้านบาท

ส่งออกเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2566 ที่กลับมาเป็นบวกได้ 2.6% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าไทยทำได้ดี โดยอินเดีย ลบ 6.9% ไต้หวัน ลบ 7.3% เกาหลีใต้ ลบ 8.3% จีน ลบ 8.8% สิงคโปร์ ลบ 12.6% มาเลเซีย ลบ 21.2% และอินโดนีเซีย ลบ 21.2% เป็นต้น

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตร 4.2% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ยังลดลง 7.6% โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 99.8% เฉพาะมังคุดสด เพิ่ม 28,175% ข้าว เพิ่ม 10.8% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 28.6% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 26.5% นมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 13.2% ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 22.8% ส่วนยางพารา ลด 32.9% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 12.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 9.7% น้ำตาลทราย ลด 23.1% ไก่แปรรูป ลด 12.8% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ลด 57.4%

ส่งออกเดือนสิงหาคม

กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า

ส่งออกเดือนสิงหาคม

สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่งออกเดือนสิงหาคม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK