Economics

ส่งออกไทยเดือน พ.ค. หดตัว 4.6% ดีกว่าคาด! มองแนวโน้มครึ่งปีหลังดีขึ้น

“กระทรวงพาณิชย์” เผยส่งออกเดือนพฤษภาคมหดตัว 4.6% ดีกว่าคาด! มองแนวโน้มครึ่งปีสถานการณ์การส่งออกเริ่มดีขึ้น ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานการณ์ ส่งออกของไทย ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์ (830,448 ล้านบาท) หดตัว 4.6% จากตลาดคาดหดตัว 8-10% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 1.4% จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ส่งออกเดือนพฤษภาคม

เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้า และทำมูลค่าสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของเดือนพฤษภาคม (21,658.8 ล้านดอลลาร์) โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน จากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ) ยานพาหนะและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น เครื่องปรับอากาศ) ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐ อาเซียน(5) และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวอีกครั้ง

ทั้งนี้ การส่งออกไทย 5 เดือนแรก หดตัว 5.1% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 2.1%

ส่งออกเดือนพฤษภาคม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์

เดือนพฤษภาคม 2566 การส่งออกมีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.6% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 26,190.2 ล้านดอลลาร์ หดตัว 3.4% ดุลการค้า ขาดดุล 1,849.3 ล้านดอลลาร์ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์ หดตัว 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 122,709.5 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.5% ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,365.3 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท

เดือนพฤษภาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 830,448 ล้านบาท หดตัว 2.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 904,563 ล้านบาท หดตัว 1.7% ดุลการค้า ขาดดุล 74,115 ล้านบาท ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 3,941,426 ล้านบาท หดตัว 2.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 4,210,326 ล้านบาท ขยายตัว 0.2% ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 268,901 ล้านบาท

ส่งออกเดือนพฤษภาคม

แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป

กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกจาก

1. ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป
2. สภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในปีนี้
3. แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และภาคการผลิตสินค้า
4. การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการพึ่งพาตนเองของจีน ขณะที่ปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย ได้แก่

  • การดำเนินนโยบายในเชิงรุกและเชิงลึกของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งรักษาตลาดเดิม เจาะตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกไทย
  • แนวโน้มการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการบริโภคและการลงทุน
  • ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

ส่งออกเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกไทยในปีนี้ ไว้ที่ 1-2% และเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สถานการณ์การส่งออกจะเริ่มดีขึ้น ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo