Economics

กกร.เตรียมยื่น 6 ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-แก้ปัญหาประเทศ

กกร. เตรียมยื่น 6 ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-แก้ปัญหาประเทศ ชี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดโต 3.0-3.5%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. วันนี้ (3 พ.ค.) ได้ทำ 6 ข้อเสนอเตรียมยื่นต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลในอนาคต สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้

กกร.

 

6 ข้อเสนอเตรียมยื่นรัฐบาลในอนาคต

  1. ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
  2. ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
  3. ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี
  4. ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว
  5. ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้จัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
  6. ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

กกร.

นายเกรียงไกร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะ 30 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ GDP ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก กกร.จึงคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 โตที่ระหว่าง 3.0-3.5% การส่งออก -1.0-0.0% เงินเฟ้อ 2.7-3.2%

ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ทั้งนี้ภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงและอาจปรับตัวลงช้า ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้ารอบที่ 2 ประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับชนิดสินค้าและต้นทุน

กกร. ยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง กระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง

กกร.

ดังนั้น กกร. จึงเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว เพื่อเร่งวางมาตรการรับมือภัยแล้ง และเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้หลายประเทศทั่วโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร แต่มั่นใจว่าไทยไม่ขาดแคลน แม้จะเกิดปัญหาภัยภัยแล้งก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหาร แต่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับเงินเฟ้อที่ยังสูง ต้นทุนก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนค่าไฟมีแนวโน้มลดลงจากราคาพลังงานที่ลดลงแต่เห็นว่าควรมีการปรับโครงสร้างค่าไฟครั้งใหญ่ เพราะค่าไฟฟ้าที่ลดลงจะทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo