Economics

มูลค่าส่งออกไทยเดือน มี.ค. ทะลุ 27,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 12 เดือน!

“กระทรวงพาณิชย์” เผยส่งออกเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 12 เดือน ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากภาวะเงินเฟ้อ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2566 พบว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์ (942,939 ล้านบาท) หดตัว 4.2% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 0.01% โดยการส่งออกเดือนนี้หดตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ทำมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (23,904.9 ล้านดอลลาร์) และมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน

ส่งออกเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ การส่งออกในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงถือได้ว่าทำได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการ มีสัญญาณที่ดีจากการกลับมาเป็นบวกในตลาดที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย อีกทั้งยังกลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากภาวะเงินเฟ้อ ที่แม้จะผ่อนคลายลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่การย่อตัวลงของราคาน้ำมันตามอุปสงค์ตลาดโลกที่ชะลอตัว ได้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกไทย ไตรมาสแรก หดตัว 4.5% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 0.9%

ส่งออกเดือนมีนาคม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์

เดือนมีนาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,935.5 ล้านดอลลาร์ หดตัว 7.1% ดุลการค้า เกินดุล 2,718.8 ล้านดอลลาร์ ภาพรวม ไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 70,280.1 ล้านดอลลาร์ ดตัว 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 73,324.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.5% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2566 ขาดดุล 3,044.2 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท

เดือนมีนาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 942,939 ล้านบาท ขยายตัว 2.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 860,535 ล้านบาท หดตัว 1.0% ดุลการค้า เกินดุล 82,403 ล้านบาท ภาพรวม ไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 2,373,189 ล้านบาท หดตัว 1.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 2,508,390 ล้านบาท ขยายตัว 2.9% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2566 ขาดดุล 135,201 ล้านบาท

ส่งออกเดือนมีนาคม

การส่งเสริมการส่งออก

การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ

การดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 เพื่อรับมือกับผลไม้ที่จะออกสู่ตลาด 6.78 ล้านตัน โดยแบ่งแผนงานออกเป็น 4 ด้าน คือ แผนการผลิต แผนการตลาดในประเทศ แผนการตลาดต่างประเทศ และแผนดูแลด้านกฎหมาย ผ่าน 22 มาตรการเชิงรุก เช่น การดูแลมาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออก การช่วยเหลือดอกเบี้ยและเงินช่วยเหลือแก่ผู้ส่งออกผลไม้ การเจรจาและจับคู่ซื้อขายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เป็นต้น โดยตั้งเป้าส่งออกผลไม้ปีนี้ไว้ที่ 4.4 ล้านตัน

การอำนวยความสะดวกส่งสินค้าผ่านแดนไปยังจีน โดยคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปสำรวจด่านรถไฟโม่ฮาน และได้หารือกับผู้บริหารด่านศุลกากร เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน รองรับฤดูกาลผลิตผลไม้ไทยปี 2566 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด พร้อมตรวจสอบพื้นที่ลานตรวจสอบจำเพาะของสินค้าผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งในฤดูผลไม้ของไทยผ่านด่านสำคัญของจีน

ส่งออกเดือนมีนาคม

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในแต่ละภูมิภาคของโลกยังอยู่ในระดับสูง ภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินยังเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมไปถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อผันผวนของราคาพลังงาน

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งการรื้อฟื้นความสัมพันธ์และการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการทำความตกลงทางการค้าในระดับท้องถิ่นกับตลาดศักยภาพในจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ช่วยสนับสนุนการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และคาดว่าจะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ผ่านพ้นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK