Economics

ทำไมค่าไฟแพง? ‘ปลัดพลังงาน’ แจงยิบ! ยันไม่ได้ขึ้นค่าไฟ ยังคิดอัตราเดิม

ทำไมค่าไฟแพง? “ปลัดพลังงาน” แจงยิบ! แอร์ทำงานหนัก กินไฟเพิ่ม ยิ่งใช้หน่วยเพิ่มค่าไฟเพิ่มตามอัตราก้าวหน้า พร้อมยันไม่ได้ขึ้นค่าไฟ ยังคิดอัตราเดิม

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัด กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในเดือนเมษายน 2566 ขอเรียนว่าเนื่องจากในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศใช้กำลังไฟมากขึ้นในการที่จะรักษาอุณหภูมิให้ปกติจะเป็นอย่างที่หลายหน่วยงานได้ออกมาแจ้งยืนยัน

ค่าไฟแพง

ขอยืนยันว่า ค่าไฟฟ้าไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงคิดอัตราค่าไฟฟ้า ในช่วงระยะเวลาเดิม คือ งวดวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2566 ที่ยังไม่มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยยังคงเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย แต่อัตราค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า หรือปรับเพิ่มเป็นขั้นบันได

ยกตัวอย่างเช่น ประเภทผู้ใช้ครัวเรือน อัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปร Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเริ่มต้นโดยถ้าใช้ตั้งแต่ 1-150 หน่วยอยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.2218 บาทต่อหน่วย เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.4217 บาทต่อหน่วย เมื่อประชาชนใช้ไฟฟ้าเปิดเวลาเท่าเดิมแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก และกินไฟฟ้าหลายหน่วยเพิ่มมากขึ้นทำให้อัตราเพิ่มสูงขึ้นจึงเกิดค่าไฟแพงขึ้น

สำหรับเรื่องที่มีการกล่าวถึงว่า อัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ของประเทศไทย สูงถึง 50-60% ขอเรียนว่า การผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ อย่างต่อเนื่องและมั่นคง จำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) เพื่อรองรับเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าตามปกติได้ เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อซ่อมแซม หรือโรงไฟฟ้าหยุดผลิตไฟฟ้าเนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องหรือปิดซ่อมบำรุง ซึ่งรวมทั้งกรณีที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีความผันผวน เป็นต้น

ค่าไฟแพง
นายกุลิศ สมบัติศิริ

การมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไป บ่งบอกว่าอาจมีโรงไฟฟ้ามากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ผลกระทบที่ตามมา คือ อัตราค่าไฟก็จะสูงขึ้น เนื่องจากค่าไฟฟ้าคิดรวมต้นทุน ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วย หากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองน้อย ก็จะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการขาดแคลนไฟฟ้าในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ
ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสม สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดที่ได้นั้น มีบางส่วนที่มาจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ซึ่งไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องด้วยปัจจัยของช่วงเวลาหรือฤดูกาล จึงไม่สามารถประเมินโดยใช้ยอดกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดได้

นอกจากนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งในการประเมินจะใช้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน อยู่ที่ประมาณ 33,000 MW ใกล้เคียงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2565 จึงคิดเป็นอัตราการสำรองไฟที่ร้อยละ 36 ซึ่งไม่ใช่ร้อยละ 50-60 ตามที่มีการกล่าวอ้าง ทั้งนี้ หากนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จะทำให้อัตราการสำรองไฟฟ้าที่ได้ไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟที่แท้จริง

ค่าไฟแพง

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ทั้งในอ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สูงถึง 56% ในช่วงปี 2565 มีการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตให้แทนขุดเจาะขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่อ่าวไทย ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตก๊าซในประเทศลดลงจากเดิม ขณะที่เกิดวิกฤตการณ์ราคาแอลเอ็นจีโลก มีความผันผวนและปรับสูงขึ้นเป็นอย่างมากจากปกติในราคาประมาณ 8-10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพิ่มสูงขึ้นเป็นถึงระดับ 50-80 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จึงเป็นเหตุผลหลักที่ส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2/2566 ( พฤษภาคม-สิงหาคม) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า จะลดลงจากที่ประกาศไว้ที่อัตราเฉลี่ย 4.77 บาทต่อหน่วยเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วยได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ กกพ.จะพิจารณา ทางกระทรวงฯ ไม่สามารถก้าวล่วงได้ โดยเหตุที่จะสามารถลดลงได้ ก็เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหนังสือยืนยันช่วยประชาชน โดยขอรับชำระค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระเพิ่มจากที่เหลือ 5 งวด หรือสิ้นสุดธันวาคม 2567 เป็น 6 งวดไฟฟ้า หรือสิ้นสุดเมษายน 2568

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo